Home » ข่าว » ๔๐ ปี กลุ่มนาคร : กลุ่มศิลปะและวรรณกรรมของภาคใต้(๑)

๔๐ ปี กลุ่มนาคร : กลุ่มศิลปะและวรรณกรรมของภาคใต้(๑)

กลุ่มนาคร  เกิดจากการรวมกลุ่มของนักคิดนักเขียนและนักกิจกรรมที่สนใจและสร้างสรรค์งานทางด้านศิลปะและวรรณกรรมทั้งในและนอกรั้วสถาบันการศึกษาในภาคใต้  เมื่อปี ๒๕๒๕ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า “วรรณกรรมย่อมมีชีวิตอยู่ทุกหนทุกแห่งบนผืนแผ่นดินนี้”  และโดยแนวคิด “หากเรารวมร่วมทางสร้างประสาน  ทุกแห่งหนจักจดจารความเคลื่อนไหว”ซึ่งเคยยืนยันไว้ในปกวารสารกลุ่มที่ชื่อว่า “คลื่นทะเลใต้”และ “ยืนค้ำฟ้า”

            กลุ่มกิจกรรมจากรั้วสถาบันอุดมศึกษาที่ไหลเข้ามารวมตัวเป็นกลุ่มต่างๆและรวมกันเป็นกลุ่มนาครในปี ๒๕๒๕ ประกอบด้วย กลุ่มประภาคาร  ทะเลสาบสงขลา  อันมี ประมวล  มณีโรจน์  รูญ  ระโนด  มาบ  หัวทีง  ทัศนวิไล  ธัช  ธาดา  ปอพอ  ศรีออน  สายธารสิโป  และศิลปินเพลงวงกางเขน(นิพล  รัตนพันธ์  ธานี  จันทโกศล  อนงค์  ทรัพย์มี  พรศรี  ชูบ้านนา  ฯลฯ)เป็นสมาชิกกลุ่ม  กลุ่มสานแสงทอง  พัทลุง  ซึ่งมีเจน  สงสมพันธุ์หรือกานท์  นิรนามหรือ แสง ลำรุน และกนกพงศ์  สงสมพันธุ์(เสียชีวิตแล้ว) เป็นสมาชิกกลุ่ม  กลุ่มประกายพรึก  พัทลุง  ซึ่งมีไพฑูรย์  ธัญญา  ยงยุทธ  ชูยลชัด  สุ  เหล็มปาน  และศิลปินเพลงวงตาคำ  เป็นสมาชิกกลุ่ม  ชมรมดอกไม้นครศรีธรรมราช  ซึ่งมี  รัตนธาดา  แก้วพรหม  โอภาส  สอดจิตต์(เสียชีวิตแล้ว)  วิสรรชนีย์  นาคร(เสียชีวิตแล้ว) จิรวรรณ  วรชาติ(เสียชีวิตแล้ว)และสายใจ  ปุญญานุพงศ์เป็นสมาชิกกลุ่ม  กลุ่มนักกลอนนครศรีซึ่งมีพระมหาจตุรงค์  ศรีจงกล  และแก่นเพชร  ภักดีพันธุ์  เป็นสมาชิกกลุ่ม  กลุ่มคลื่นทะเลใต้  สุราษฎร์ธานี  ซึ่งมีสมใจ  สมคิด  และบุญชัย  ตันสกุล(เสียชีวิตแล้ว)  เป็นสมาชิกกลุ่มและกลุ่มเพื่อนวรรณกรรมของเชื้อเสือ  คงเมือง(เสียชีวิตแล้ว)และปัทมราษฎร์  เชื้อศูทร จากวิทยาลัยครูสงขลา

            นอกจากนั้นยังมีสมาชิกอื่นๆที่ไม่ได้สังกัดกลุ่มย่อยมาก่อนได้เข้ามาร่วมสมทบในตอนหลัง  ได้แก่  วินัย  สุกใส  สมคิด  ทองสง  อมรศักดิ์  รักษ์ทิพย์  กร  ศิริวัฒโณ  อัตถากร  บำรุง  สุวิทย์  โสนารถ  ดิเรก  นนทชิต  ภานุวัตร  ขุนปราบ  อุทิศ  สังขรัตน์และศิลปินเพลงวงผีเสื้อจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล  สงขลา  มี วรรณชัย  สุวรรณกรญจน์  แบน  ด้วง  และเพื่อน  เป็นต้น

            วัตถุประสงค์เบื้องต้นของการรวมกลุ่ม  ประกอบด้วย  ๑) เพื่อนำเสนอแลกเปลี่ยนทัศนะความคิดเห็นและข่าวสารความเคลื่อนไหวของวัฒนธรรมท้องถิ่น  รวมทั้งเรื่องราวทางด้านเนื้อหา  รูปแบบและทิศทางของวรรณกรรมและบทเพลง  ๒) เพื่อขยายแวดวงของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น  วรรณกรรมและเพลงสู่การรับรู้ของเยาวชนคนหนุ่มสาวและผู้สนใจอื่นๆซึ่งจะเน้นในส่วนภูมิภาคตามเงื่อนไขการดำรงอยู่ทั้งของผู้สื่อและผู้รับ  ๓) เพื่อร่วมกันทำกิจกรรมทางด้านศิลปวัฒนธรรม  วรรณกรรมและเพลงอันหมายถึงทัศนะและความคิดเห็นในรูปแบบต่างๆและร่วมกันศึกษา  เผยแพร่วรรณกรรม  เพลงเพื่อชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น  ๔) เพื่อยืนยันถึงความสำคัญและคุณค่าของวัฒนธรรมไทย  ทั้งที่ยังดำรงเอกลักษณ์อยู่อย่างเข้มข้นละที่ปรับเปลี่ยนประสมประสานไปแล้วเพื่อการดำรงอยู่และความสอดคล้องกับชีวิตที่เป็นต้นธารของบทเพลง  วรรณกรรมและวัฒนธรรมดังกล่าว  ๕) เพื่อแฃกเปลี่ยนทัศนะ  ความคิดเห็นและข่าวคราวของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ  รวมทั้งชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีกว่าของประชาชนในรูปแบบของบทเพลง  วรรณกรรมและศิลปวัฒนธรรม

            จะเห็นได้ว่า  เป้าหมายการรวมกลุ่มของกลุ่มนาครในครั้งนั้นมิได้อยู่ที่การสร้างสรรค์งานวรรณกรรมแต่เพียงด้านเดียว  แต่ยังครอบคลุมไปถึงศิลปวัฒนธรรม  บทเพลงและการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพรวมถึงความเป็นอยู่ทีดีกว่าของประชาชนในยุคนั้นและยุคต่อๆมาด้วย

            บทบาทของกลุ่มนาครในยุคต้นๆ  นอกจกาการสร้างสรรค์งานกวีนิพนธ์  เรื่องสั้น  บทเพลงและการเคลื่อนไหวส่งเสริมกิจกรรมตามความถนัดและรักชอบในพื้นที่หรือสังคมที่เป็นบริบทของแต่ละคนหรือแต่ละกลุ่มย่อยแล้ว  ยังมีพันธกิจในการรวมกลุ่มอีกส่วนหนึ่งดังนี้

          ๑.บทร้อยกรอง ๒๐๐ ปีฤๅสิ้นเสดสา  อันเป็นผลงานร้อยกรองขนาดยาวเพื่อร่วมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบสองร้องปีในปี ๒๕๒๕  โดยสมาชิกกลุ่ม ๕ คนคือ  โอภาส  สอดจิตต์  ไพฑูรย์  ธัญญา  รัตนธาดา  แก้วพรหม  ประมวล  มณีโรจน์และสมใจ  สมคิด  ตีพิมพ์เผยแพร่โดยสนพ.ต้นหมาก

            ๒.จัดทำวารสารเสนอผลงานของกลุ่มโดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันรับหน้าที่บรรณาธิการ  เขียนบทความ  คอลัมน์  เกร็ดวัฒนธรรมท้องถิ่นและอื่นๆ  กำหนดเอาไว้เบื้องต้น ๓ ฉบับคือ คลื่นทะเลใต้ มีรัตนธาดา  แก้วพรหม  เป็นบรรณาธิการ  ยืนค้ำฟ้า  มีประมวล  มณีโรจน์  เป็นบรรณาธิการ  ส่วน เดินย้อนรอย  ซึ่งให้ไพฑูรย์  ธัญญาเป็นบรรณาธิการไม่ได้ออกเผยแพร่เพราะบรรณาธิการออกจากพื้นที่ไปศึกษาต่อที่มศว.พิษณุโลก

            ๓.กิจกรรมค่ายนักเขียนเพื่อสร้างเยาวชนนักเขียนและนักอ่าน  โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันปีละครั้งตามสถานศึกษาในจังหวัดใกล้เคียง  เช่น  พัทลุง  นครศรีธรรมราชและสงขลา

            ๔.ร่วมศึกษาวรรณกรรมและสภาพของท้องถิ่นในด้านต่างๆโดยการจัดกลุ่มพูดคุย  รวมกลุ่มศึกษาและจัดพิมพ์เอกสารเผยแพร่  เช่น  “วรรณกรรมเพื่อชีวิต :  ก้าวเดินที่สับสนและแสวงหา”   “ประภาคาร : ที่ไหนมีไฟที่นั่นย่อมมีคน”  “การเคลื่อนเปลี่ยนของคตินิยมในบริเวณสามจังหวัดรอบทะเลสาบสงขลา”  “การดำรงอยู่ของวิถีการผลิตแบบไร่เลื่อนลอยในหมู่บ้านบริเวณเชิงเขาบรรทัด-พัทลุง”  “โลกของลุ่มทะเลสาบ”  “เงื่อนไขการดำรงอยู่ของชาวนา : ศึกษาเฉพาะกรณีของตำบลขอนหาด  อำเภอชะอวด  จังหวัดนครศรีธรรมราช”

            ๕.จดหมายข่าวเพื่อติดต่อสัมพันธ์แลกเปลี่ยนข่าวสารสารทุกข์สุกดิบในระหว่างสมาชิกกลุ่มโดยหมุนเวียน  ผลัดเปลี่ยนรับผิดชอบในแต่ละพื้นที่

            ๖.สร้างและศึกษางานเพลงเพื่อชีวิตภายใต้ความรับผิดชอบของชมรมดอกไม้  กลุ่มสานแสงทอง  กลุ่มประกายพรึกและกลุ่มประภาคาร  วงผีเสื้อ  เป็นต้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *