“ผู้ว่าฯ อำพล” เตรียมความพร้อมชาวยะลารับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน บูรณาการสรรพกำลังหน่วยงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเป็นระบบ ตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
18 ตุลาคม 2566 เวลา 13.30 น. ที่ ห้องประชุมศรียะลา ศาลากลางจังหวัดยะลา อ.เมือง จ.ยะลา นายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นประธานในการประชุมการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2566 โดยมีพันจ่าโท อนันต์ บุญสําราญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา คณะกรรมการ หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
ที่ประชุมได้รายงานผลการดำเนินงานปี 2566 จังหวัดยะลาได้เกิดอุทกภัย 3 ครั้ง วันที่ 6 – 10 มกราคม2566 จำนวน 2 อำเภอ 11 ตำบล 26 หมู่บ้าน (อำเภอเมืองยะลา และอำเภอยะหา) ประชาชนได้รับผลกระทบ 443 ครัวเรือน อพยพ 5 ครัวเรือน 18 คน ซึ่งจังหวัดยะลามีแนวโน้มในการเกิดอุทกภัยขึ้นทุกปี มีปัจจัยจากพายุหมุนเขตร้อน และลักษณะฝนตก
โดยในปี พ.ศ.2494-2565 มีพายุหมุนเขตร้อนในจังหวัดยะลา จำนวน 3 ลูก (ระดับดีเปรสชั่น) ในช่วงกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนมกราคม ได้รับอิทธิพลจากลมมร สุมตะวันออกเฉียงเหนือ ฝนจะตกทุกช่วงเวลา ตกเป็นระลอก ๆ ละ 2 -4 วัน หยุดตก 1-2 วัน ประมาณ 8-10 ระลอก ตลอดฤดูมรสุมและความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทภัยในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในพื้นที่อำเภอเบตง
เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที และเป็นการบูรณาการสรรพกำลังหน่วยงานในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างเป็นระบบตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยะลา
ต่อจากนั้น นายอำพล พงศ์สุวรรณ พร้อมด้วย นายธราวุธ ช่วยเกิด ปลัดจังหวัด นายวิทศักดิ์ จำเริญนุสิต นายอำเภอเมืองยะลา นายวีรวัฒน์ ศิริกุลพิพัฒน์ หัวหน้าป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยะลา นายสาคร นิลรัตน์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดยะลา นายเสรี เรืองกาญจน์ นายกเทศมนตรีเมืองสะเตงนอก ลงพื้นบริเวณโครงการพัฒนาเมืองบริเวณชุมชนหลังวัดตรีมิตร รวมรับฟังผลการดำเนินงาน ในโครงการที่รองรับการระบายน้ำที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2566 เพื่อลดความเดือนร้อนของชาวบ้านที่มีการเกิดอุทกภัยซ้ำซากอีกด้วย