“นายกไพเจน” เตรียมเข้าพบ “ธรรมนัส พรหมเผ่า” รมว.เกษตรฯ หารือความร่วมมือท้องถิ่นกับส่วนกลางด้านการเกษตร หลังทำ MOU กับกรมชลประทานแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ หวังเพิ่มรายได้ต่อครัวเรือนเกษตรกรสูงขึ้น
นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ได้เชิญหัวหน้าส่วนราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดสงขลามาหารือว่าใครมีประเด็นอะไรบ้าง
เพื่อเป็นข้อมูลในการเข้าพบและหารือกับ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลังจากที่ได้ประสานงานกับ นายอัครา พรหมเผ่า นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นน้องชายรมว.เกษตรฯ
“ผมมีความตั้งใจที่จะเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อที่จะนำข้อมูลไปหารือในการที่ท้องถิ่นกับส่วนกลางมาร่วมกันขับเคลื่อนภาคเกษตร ที่ท้องถิ่นเข้าไปสนับสนุนได้” นายไพเจน กล่าว และว่า
รูปแบบความร่วมมือกันระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลากับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น ต้องหารือกันก่อน ซึ่งรูปแบบความร่วมมือขึ้นอยู่กับภารกิจของแต่ละหน่วยงาน เพราะในกระทรวงเกษตรฯ มีหลากหลายหน่วยงาน บางหน่วยงานก็อาจจะมีการทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู)
ยกตัวอย่างกับกรมชลประทาน ตอนนี้ก็มีการทำเอ็มโอยูในเรื่องการแก้ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่อ.สทิงพระ และ อ.กระสินธุ์ เพราะมีถนนของอบจ.ไปตัดคลองต่าง ๆ ทำให้การระบายน้ำลงสู่ทะเลสาบสงขลาไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
โดยสิ่งที่สำคัญคือ ขาดเครื่องมือคือ ประตูระบายน้ำประมาณ 23 แห่ง ซึ่งทางอบจ.สงขลาไม่มีศักยภาพพอที่จะไปสำรวจออกแบบและก่อสร้างก็จึงทำเอ็มโอยูกับกรมชลประทาน เพื่อให้กรมชล
ประทานสำรวจออกแบบแล้วก็ก่อสร้างประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำเพื่อจะสูบน้ำระบายน้ำออกจากพื้นที่ในกรณีที่ทะเลสาบมีน้ำทะเลหนุนสูง หากไม่มีประตูระบายน้ำจะทำให้น้ำเข้ามาท่วมพื้นที่ แต่ถ้าหากเรามีประตู เราก็ปิดประตูแล้วทำการสูบน้ำออก ในช่วงน้ำในทะเลสาบสงขลาลดลง เราก็เปิดประตูให้น้ำไหลลงไปตามธรรมชาติได้ “ในกรณีที่น้ำในทะเลสาบสงขลาหนุนสูง ก็เราปิดประตูระบายแล้วทำการสูบน้ำระบายออก ก็จะแก้ ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้ทำเอ็มโอยูกับกรมชลประทานแล้ว”
ฉะนั้น ในเรื่องในอื่น ๆ สำหรับการความร่วมมือ ก็ต้องดูบริบทของภารกิจของแต่ละหน่วยงาน ยกตัวอย่างกรมส่งเสริมการเกษตร เราก็จะร่วมกันทำอีกเรื่อง กรมวิชาการก็ทำอีกเรื่อง หรืออาจจะไม่ทำแต่เราจะขับเคลื่อนไปด้วยกัน ซึ่งจะทำให้ภาคเกษตรก็คือตัวเกษตรกรน่าจะดีขึ้น ถ้าเกิดความร่วมมือกันระหว่างท้องถิ่นกับส่วนกลาง จะทำให้เกษตรกรได้รับการช่วยเหลือ สนับสนุนได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากท้องถิ่นมีความใกล้ชิดกับพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาเป็นหน่วยงานแนวหน้าให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
“หน่วยงานท้องถิ่นมีความใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่มากกว่า รับทราบปัญหาและความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ได้เร็วกว่า และหากเรามีงบประมาณเราก็จะช่วยเหลือเกษตรกรได้เร็วกว่า”
เนื่องจาก ท้องถิ่นสามารถดำเนินการให้การช่วยเหลือได้ทันที ซึ่งต่างจากส่วนกลางที่จะต้องมีการ
ตั้งงบประมาณล่วงหน้า 1-2 ปี กว่าจะได้ แต่ของเราเราดำเนินการได้เลย ขอให้มีงบประมาณ แต่ท้องถิ่น
มีข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ แต่หากเราได้รับงบประมาณช่องทางนี้ก็จะสามารถช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
และที่สำคัญองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งแรกในประเทศไทยที่มีการจัดตั้งกองส่งเสริมการเกษตรขึ้นมา “ผมจะคุยกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ควรที่จะสนับสนุนให้ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบจ. เทศบาล อบต. มีกองส่งเสริมการเกษตร”
เพราะอย่าลืมว่าประเทศไทยหลักก็คือเกษตร และปัญหาของรัฐบาลทุกรัฐบาล ก็คือปัญหาด้านการเกษตร ผลผลิต ราคา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้าว เรื่องยางพารา เรื่องปาล์ม มาจากภาคเกษตรทั้งนั้น
ยกตัวอย่างม็อบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา ก็มาจากปัญหาด้านการเกษตรทั้งนั้น เมื่อเทียบกับม็อบอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น จึงคาดหวังการหารือกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะนำมาซึ่งความร่วมมือต่างๆ“จึงเป็นที่มาของการเชิญหัวหน้าส่วนราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาหารือในวันนี้ เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นกับส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคในการแก้ปัญหาการเกษตร จะต้องร่วมมือกัน”
ซึ่งปัจจุบันเราก็มีกานร่วมมือกันอยู่แล้ว แต่อาจจะไม่แน่นเท่าไหร่ แต่หากเรามีความแน่นแฟ้นกัน
มากยิ่งขึ้น ภาคการเกษตรก็จะมีความมั่นคง มีความยั่งยืน ครัวเรือนเกษตรกรจะรายได้สูงกว่าเดิม ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรดีขึ้น มั่นคง“ผมตั้งใจจะทำให้ภาคการเกษตรจังหวัดสงขลามีรายได้ต่อครัวเรือนสูงขึ้น” นายกไพเจน กล่าว