Home » ข่าว » ‘สถาบันฮาลาล’ ม.อ.หนุน“กรมฮาลาล”-สร้างเอกภาพ

‘สถาบันฮาลาล’ ม.อ.หนุน“กรมฮาลาล”-สร้างเอกภาพ


ผอ.สถาบันฮาลาล ม.อ. หนุนรัฐบาลตั้ง “กรมฮาลาล” เสนอ 4 ข้อ พัฒนาอุตสาหกรรมทั้งระบบ แนะดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนสร้างมาตรฐาน-ความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค ทั้งในและต่างประเทศ การหารือทวิภาคีกลุ่มเล็กของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม (Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องประชุม ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ,สงขลา นายเศรษฐา ทวีสิน ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า รัฐบาลไทยมีแผน


จัดตั้ง “กรมฮาลาล” ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยจะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานของมาเลเซีย เพื่อพัฒนาความร่วมมือทางด้านอาหารฮาลาล รวมถึงกำหนดมาตรฐานและความถูกต้องของสินค้าและอาหารฮาลาลด้วย และจะผลักดันให้เกิดความก้าวหน้า ซึ่งมาเลเซียพร้อมร่วมมือ เพราะอาหารฮาลาลสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหาร ผศ.ดร. อัสมัน แตอาลี ผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) เผยว่าหลังจากที่ได้ติดตามข่าวการจัดตั้ง กรมฮาลาล ส่วนตัว


คิดว่าถ้า กรมฮาลาล มาเป็นตัวสนับสนุนในส่วนที่อยากจะพัฒนาสินค้าฮาลาล โดยเฉพาะ เรื่องการผลิตสินค้า การสร้างความเชื่อมั่น ความเชื่อใจให้แก่ผู้บริโภคมุสลิม โดยที่ไม่ไป ซ้ำซ้อนในเรื่องการรับรอง ซึ่งมีองค์กรศาสนา ทำหน้าที่อยู่แล้ว
“ตรงนี้เห็นด้วย คิดว่า กรมฮาลาลจะสามารถเป็นตัวสนับสนุนอย่างดีในการที่จะขับเคลื่อนในเรื่องการสร้างโอกาสและช่องทางที่จะทำให้ธุรกิจฮาลาลของไทยเติบโตมากขึ้นในอนาคต”


“สถาบันฮาลาล ม.อ. เราคิดถึงความเข้มแข็ง ของอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ต้องเริ่มต้นจากการพัฒนากำลังคนด้านฮาลาล จึงมีหลักสูตรระยะสั้น เพื่อจะสร้างคนด้านฮาลาลให้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนการผลิตสินค้าฮาลาลให้มีความน่าเชื่อถือ”
ส่วนบทบาทของกรมฮาลาล ข้อแรก ที่อยากเห็นคือ การที่จะกำหนดแผนยุทธศาสตร์ว่าการที่จะให้แต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับฮาลาลมีบทบาทและหน้าที่ ๆ แต่ละส่วนมีความถนัดยังไง อยากเห็นถึงการทำงานตามความถนัดและก็ความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในตอนนี้


“ถ้าได้กรมฮาลาลมาจัดระบบ จัดระเบียบตรงนี้จะทำให้งานด้านฮาลาลจะลื่นไหลและเป็นระบบมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ องค์กรศาสนาสถาบันการศึกษา และผู้ประกอบการ ทั้ง 4 ส่วนน่าจะจัดระบบให้มีความเข้มแข็ง และมีทิศทางเดียวกัน” ข้อที่สองคือ เรื่องงบประมาณที่จะไปสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล อยากจะให้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ตรงนี้ว่า จะสร้างกำลังคนด้านฮาลาลในแต่ละปี เท่าไหร่ ยังไง เพื่อให้โรงงานต่าง ๆ ที่เขาผลิตสินค้าฮาลาลสามารถจะสร้างความเชื่อมั่น ความมั่นใจต่อผู้บริโภคมุสลิม ทั้งในและต่างประเทศ
“เรื่องนี้สำคัญในเรื่องเครดิต ซึ่งประเทศไทยเป็นที่รับรู้กันว่าไม่ใช่ประเทศมุสลิม แต่ถ้าเราสร้างคนด้านฮาลาลไปทำงานประจำในแต่ละสถานประกอบการ ก็จะสร้างความเชื่อมั่นตรงนี้ได้มากขึ้น”


ข้อที่สาม อยากจะให้เชื่อมโยงกับงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ อยากเห็นการเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษา ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญอยู่แล้ว จะทำยังไงให้เอาความรู้ที่เขามีอยู่มาประยุกต์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารฮาลาลหรือการบริการ เรื่องโลจิสติกส์ฮาลาล เรื่องท่องเที่ยวฮาลาล เครื่องสำอางฮาลาล ซึ่งมีอยู่แล้วในอุตสาหกรรมตอนนี้ เพียงแต่การวิจัยในเชิงลึก และการสร้างความรู้ ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ยังน้อยอยู่ เพราะฉะนั้น เวลามีผู้บริโภคที่เขามีความรู้ในเรื่องนี้ เขามาตรวจสอบกรณีที่รู้สึกคลางแคลงใจก็จะเป็นปัญหาสำหรับคนที่ยังไม่เข้าใจที่แท้จริง


ข้อที่สี่ การสร้างงานสร้างอาชีพใหม่ด้านฮาลาลเป็นสิ่งสำคัญ เพราะยังไม่มีมาก่อน แต่เราก็สามารถสร้างได้ เนื่องจากพื้นที่ทางด้านนี้มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม หรือภาคการผลิต ซึ่งการสร้างงาน สร้างอาชีพ จะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษา หรือบัณฑิตที่เพิ่งจบ สามารถเข้าสู่ในเส้นทางนี้ ก็จะทำให้เกิดอาชีพใหม่ และสร้างงาน สร้างรายได้ ขึ้นมา
สำหรับอุตสาหกรรมฮาลาลในประเทศปัจจุบันที่มีทั้งสินค้าและบริการนั้น อยู่ในอันดับดีอยู่ ที่ได้รับการยอมรับ แต่การที่จะขยับไปสู่ในระดับดีมาก หรือสูงขึ้นในระดับพรีเมียม จะต้องอาศัยการทำงานที่เป็นเอกภาพมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องมากขึ้น “ฮาลาลเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก เพราะฉะนั้น การที่ภาคธุรกิจหรือภาคอุตสาหกรรมหยิบมาโดยที่ไม่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ มันก็จะเป็นประเด็นในส่วนที่เขายังไม่เข้าใจ แต่สิ่งที่สำคัญตอนนี้คือในเรื่องการยอมรับในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศมุสลิม ประเทศอาหรับ ตรงนี้มันสร้างเครดิตให้กับสินค้าฮาลาลไทยเป็นที่ยอมรับมากขึ้น”


ผศ.ดร. อัสมัน กล่าวต่อว่า ในอนาคตสินค้าฮาลาลของไทยจะเป็นขยับไปในระดับที่สูงขึ้นกว่านี้ แต่เราต้องสร้างความเข้าใจในเรื่องกระบวนการผลิตที่ถูกต้องและมีคุณภาพด้วย ซึ่งคิดว่าเราทำได้ และเราไม่ได้แพ้คนอื่น ในการแข่งขันในตลาดโลก เราไม่ได้แพ้ใคร เพียงแต่ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ยังน้อยอยู่ส่วน กรมฮาลาล ซึ่งจะอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น คิดว่าถูกที่ ถูกทาง กระทรวงอุตสาหกรรมที่จะเป็นเจ้าภาพหรือแม่งานหลัก คิดว่าถูกต้อง เหมาะสม เพียงแต่ว่าไม่ควรที่จะเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรม อาจจะมีการบูรณาการในส่วนของการเกษตร ในเรื่องพาณิชย์เข้ามาด้วย
“เราจะต้องมาระดมสมองกันว่าเราจะวางยุทธศาสตร์กันอย่างไร ซึ่งทางม.อ. ก็พร้อม ถ้ามีอะไรให้ช่วย หรือให้รับใช้อะไรก็ยินดี”


โดยภารกิจของสถาบันฮาลาล ม.อ. ในปัจจุบัน จะเน้นในเรื่องการพัฒนากำลังคนด้านฮาลาล เรามีหลักสูตรการจัดการระบบกิจการฮาลาล ซึ่งเปิดมาแล้ว 5 รุ่น ได้รับงบประมาณจาก อว.มา 3 รุ่น ได้รับงบประมาณจากกระทรวงการต่างประเทศ และได้รับงบประมาณจากรัฐบาลซาอุดีอาระเบียมา 1 รุ่น ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวเป็นการ Upskill (พัฒนาทักษะ) Reskill (ยกระดับทักษะ) บัณฑิตที่จบใหม่ และผู้ที่กำลังทำงานในสถานประกอบการที่อยากรู้และเข้าใจในระบบกิจการฮาลาลทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่ความรู้ข้อบัญญัติ ข้อบังคับ ข้อกำหนดต่าง ๆ ในระเบียบมาตรฐานฮาลาล ในเรื่องการตรวจสอบการผลิต การควบคุม และการกำกับดูแลในเรื่องการผลิตอาหารฮาลาลทุกๆ ขั้นตอน และในเรื่องการตลาดฮาลาล ทั้งในและระหว่างประเทศ และสุดท้าย การจัดระบบเอกสาร ซึ่งจะมีเอกสารการขอรับรองมาตรฐานฮาลาล การต่ออายุทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง


รวมถึงการขอมาตรฐาน GMP (หลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตสินค้า) และ อย.ด้วย ซึ่งหลักสูตรเรามีผู้ที่สนใจมาเรียนในแต่ละรุ่น 30-40 คน ตอนนี้จบไป 5 รุ่นแล้ว ตรงนี้จะเป็นโอกาสของเด็กที่มาเรียนสามารถเข้าไปทำงานในสถานประกอบการได้


“มีสถานประกอบการมาคัดเลือกเพื่อไปทำงาน แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ ซึ่งบางครั้ง เด็กที่มาเรียนจะต้องจ่ายค่าลงทะเบียน ค่าเล่าเรียน ตรงนี้ก็จะเป็นข้อจำกัดที่มีผู้เรียนบางคนไม่มีความสามารถที่จะจ่ายค่าลงทะเบียนได้”
และที่สถาบันฮาลาล ม.อ. ทำต่อก็คือเรื่อง ฮาลาลโลจิสติกส์ ซึ่งกำลังรอมหาวิทยาลัยฯ อนุมัติอยู่ รวมถึงหลักสูตรการท่องเที่ยวฮาลาลด้วย อันนี้จะเน้นในเรื่องการผลิตกำลังคนทางด้านฮาลาลโดยเฉพาะ และสิ่งที่กำลังทำตอนนี้คือ หลักสูตรระยะสั้นของเชฟฮาลาล ระบบโรงเชือดฮาลาล ซึ่งการพัฒนาการเชือดที่ถูกต้อง ที่ยังขาดแคลนคนเชือด พนักงาน
เชือดฮาลาลอยู่ เราทำงานร่วมกับคณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ.หาดใหญ่


ขณะที่ เรื่องสปาฮาลาล ซึ่งเป็นการให้บริการที่สามารถนำเสนอต่อประเทศมุสลิมได้รับรู้ว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญในการให้บริการที่ถูกต้องตามหลักศาสนา สิ่งเหล่านี้ สถาบันฮาลาล ม.อ. ทำอยู่และกำลังจะต่อยอดต่อไปในอนาคต
นอกจากนั้น จะเป็นการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งจะมีแลปฮาลาลที่ทำอยู่ปัจจุบันที่จะมีห้องแลป (ห้องปฏิบัติการ) ที่จะตรวจผลิตภัณฑ์ฮาลาล เพื่อการขอรับรองมาตรฐานฮาลาล การทำห้องแลปให้นักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอก มาเรียนด้วย รวมถึงการบริการวิชาการ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *