Home » ข่าว » ศาสนากับการเมืองในมุมมอง”ดร.อับดลรอหมาน กาเหย็ม“

ศาสนากับการเมืองในมุมมอง”ดร.อับดลรอหมาน กาเหย็ม“

ดร.อับดลรอหมาน กาเหย็ม รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ซึงเพิ่งได้รับเลือกจาก “อีหม่าม” กว่า 400 คนในจังหวัดสงขลาให้เป็นหนึ่งใน 30 กรรมการอิสลามประจำจังหวัด(กอจ.)สงขลา ในทีม “ประธานศักดิ์กรียา บิลแสละ” อีกสมัยหนึ่ง และต่อมาที่ประชุมกอจ.สงขลา ได้เลือกเป็น “กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย” กล่าวถึงบทบาทการทำงานบริหารในองค์กรศาสนาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจ.สงขลา ว่า

คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (กอท.) ตาม พ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ซึ่งเริ่มมีการเลือกตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และตัวแทนของแต่ละจังหวัดเป็นคณะกรรมการกลางฯ ทำหน้าที่ 2 อย่างคือ หนึ่ง ให้คำปรึกษากับหน่วยงานราชการระดับบน เช่น กระทรวงต่างๆ ในเรื่องเกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม

สอง เป็นตัวแทนจากพื้นที่เข้ามาทำงานร่วมกับท่านจุฬาราชมนตรีทซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการกลางฯ โดยตำแหน่ง คล้ายกับ ส.ส. นำปัญหาของพี่น้องประชาชนซึ่งแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกัน ไปสู่การพูดคุยในการประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไข ประสานหน่วยงานราชการหน่วยใดเข้ามาร่วม

นอกจากนั้น ก็เป็นการคิดโครงการที่จะเกิดประโยชน์กับพี่น้องมุสลิม เช่น ในความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม อาจมีความไม่เข้าใจกันในบางพื้นที่ อาทิ ทางภาคเหนือ ภาคอีสาน ที่มีการออกมาต่อต้านการสร้างมัสยิดจากประชาชนบางส่วนที่ไม่เข้าใจ เราก็ต้องไปประสานหน่วยงานราชการในพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจ นี่ก็เป็นหน้าที่ของ กอท.ที่ทำอยู่

”รวมทั้งโครงการอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ ซึ่งจะมีการประชุมเดือนละครั้งได้รับเบี้ยเลี้ยง 1,100 บาท แต่ไม่ได้มีเงินเดือนประจำ” ดร.อับดลรอหมาน กล่าว และว่า

ในฐานะรองนายกอบจ.สงขลา เป็นตัวแทนดูแลพี่น้องทั้งจังหวัด แต่ก็มีความจำเป็นที่คนมุสลิมต้องเข้ามาอยู่ในองค์กรระดับบริหารเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่บางครั้งเขารับรู้จากสื่ออย่างไม่ถูกต้อง เราจึงต้องทำความเข้าใจ

อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องทำงานไปตามภารกิจ ต้องดูระเบียบ บางอย่างเราต้องการจะทำแต่หากไม่ตรงกับภารกิจและระเบียบมันก็ทำไม่ได้ โดยจัดทำโครงสร้างพื้นฐานประชาชนทุกคนได้ประโยชน์ แต่จะมีอยู่คือ กองศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม เราก็พยายามจัดสรรงบประมาณให้กับชุมชนได้รักษาอัตลักษณ์ ประเพณี วัฒนธรรมของเขาไว้ เท่าที่ทำได้ เช่น โครงการการจัดมหกรรมวิชาการ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในจังหวัดสงขลา สนับสนุนการเรียนฟัรฎูอีน โครงการอบรมสัมมนาครูศาสนา-อิหม่ามผู้นำศาสนาทั้งจังหวัด จัดงานส่งเสริมพหุวัฒนธรรม ฯลฯ ซึ่งจะทำมากไม่ได้เพราะอาจซ้ำซ้อนกับองค์กรบริหารในพื้นที่ เช่น อบต.

“ความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ระดับจังหวัด หรือแม้แต่ในระดับรัฐบาล ความคิดเห็นเก่า-ใหม่ก็มีความแตกต่างกัน ยกตัวอย่าง คนรุ่นเก่านักการเมืองรุ่นเก่าในวันนี้หากย้อนไป 20-30 ปีที่แล้วก็เป็นคนมีอุดมการณ์แทบทั้งนั้น เดี๋ยวนี้มีสื่อโซเชียล จึงมีการแสดงความคิดเห็นกันมากในหมู่คนรุ่นใหม่ว่าทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ในความเป็นจริงมันไม่ง่ายแบบนั้น เราเข้าใจบริบทนี้ดี ยกตัวอย่าง งานของอบจ.เองติดกฎระเบียบเยอะ

ดร.อับดลรอหมาน กล่าวด้วยว่า ศาสนากับการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องเดินไปด้วยกัน แต่หลายคนพยายามแยกจากกันเพราะมองว่าการเมืองไม่ค่อยมีความซื่อตรงจึงเกิดปัญหา

”ผมอยากให้สังคมมีมุมมองใหม่ว่า การเมืองเป็นเรื่องที่ดี แต่ที่ไม่ดีคือนักการเมือง และศาสนาต้องนำการเมืองมาใช้ เพราะการเมืองคือทการจัดสรรผลประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับประชาชน แต่ที่สำคัญคือ ตัวของนักการเมืองที่ขาดจุดยืนในการทำการเมือง มักหลงอำนาจ หลงตำแหน่ง ทำตัวไม่เป็นที่ศรัทธาของประชาชน“ ดร.อับดลรอหมาน กล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *