หนังสิอพิมพ์ภาคใต้โฟกัสได้นำเสนอเรื่องราว เส้นทางข้ามคาบสมุทร “ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา” ในปีที่ 2 ฉบับที่ 65 วันที่ 15-21 กุมภาพันธ์ 2542
วันที่ 15 – 21 กุมภาพันธ์ 2542 การตามหาร่องรอยประวัติศาสตร์หาดใหญ่ยังคงดำเนินต่อเนื่องไปเรื่อยๆและนอกเหนือจากคำว่าชื่อเมืองและโบราณวัตถุต่างๆ แล้ว การตามหาวิถีชีวิตชุมชนในอดีตก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าเรื่องอื่นๆ ล่าสุด “แพทย์หญิงรัชนี บุณโสภณ” หนึ่งในสมาชิกชมรมรวบรวมเรื่องเมืองหาดใหญ่ได้เสนอข้อมูลเรื่อง “ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา” ซึ่งน่าสนใจยิ่ง”โฟกัสสงขลา” จึงได้นำมาเสนอในฉบับนี้
การเดินทางของคนโบราณรู้จักเส้นทางลัดตัดข้ามคาบสมุทรและข้ามคอคอดต่างๆ นับพันปี และมีหลักทานเป็นแผนที่โบราณ แสดงเส้นทางเหล่านั้นก็นับร้อยปี ดังเช่นแผนที่ ที่ชาวฝรั่งเศส เขียนขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เส้นทางคาบสมุทร(Transpeninsula) โบราณในคาบสมุทรมลายูมีหลายเส้นทาง เส้นล่างสุดที่อยู่ในประเทศไทยคือ เส้นทางที่มีคลองอู่ตะเภาเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางนั้นในประเทศไทย และไปต่อกับเส้นทางที่เป็นคลองขุด บางส่วนออกไปแถวอลอร์สตาร์ ซึ่งแผนที่โบราณเรียก “เคดะ” ทางฝั่งมหาสมุทรอินเดีย บริเวณช่องแคบมะละกา
คลองอู่ตะเภา อยู่ในจังหวัดสงขลาทั้งคลองมีต้นน้ำจากเทือกเขาสันกาลาครี ที่อำเภอสะเดา ไหลขึ้นไปทางทิศเหนือ ไปออก
ทะเลสาบสงขลาที่อำเภอหาดใหญ่ การเดินทางตามคลองนี้ผ่านทะเลสาบไปออกอ่าวไทยได้หลายช่องทางทั้งนี้ มีหลักฐานไม่กี่ร้อยปีมานี้ว่า คาบสมุทรสทิงพระยังไม่ต่อ เป็นผืนแผ่นดินเดียวกัน ทะเลสาบกับทะเลนอกกั้นอยู่ด้วยเกาะน้อยใหญ่หลายเกาะ ซึ่งภายหลังเชื่อมต่อกันเป็นคาบสมุทรสทิงพระ
การพบโบราณวัตถุตั้งแต่ภาชนะ เครื่องประดับเงินตรา ของต่างประเทศ จากตะวันออกกลางฝั่งหนึ่งและจากจีน เวียดนาม อินโด-นีเซียอีกฝั่งหนึ่ง ณ ชุมชนโบราณในคาบสมุทรสทิงพระและพบเหรียญจำนวนมากในท้องคลองที่ตำบลการำ อำเภอสะเดา ยืนยันถึงการเชื่อมต่อเส้นทาง การเดินทางข้ามคาบสมุทรเส้นนี้ได้เป็นอย่างดี กำลังมีการศึกษา
ค้นคว้าเส้นทางโบราณนี้อย่างจริงจัง จากทั้งทางมาเลเซียและไทย
ในลำคลองอู่ตะเภา มีท่าต่อเรือโบราณ ปัจจุบันยังมีร่องรอยพอสังเกตเห็น ได้ที่บ้านท่าโอ ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ คำว่า “โอ” ภาษาใต้ คือ “อู่” ซึ่งต้อง มีความสำคัญจนกระทั่งนำมาเป็นชื่อคลองที่เรียกกันตั้งแต่โบราณมาแล้วว่า คลองอู่ตะเภา หรืออู่สำเภา (คำว่าคลองนั้นภาษาใต้คือ แม่น้ำไม่ใช่คลองขุดอย่างที่หมายถึงกันในภาคกลาง) ความเก่าของอู่ อาจอนุมานเอาได้ จากการบอกเล่าของคนปัจจุบัน ที่มีบ้านอยู่ที่นั่น ซึ่งมีอายุ 80 ปี ขณะนี้ว่า “ปู่ของเขาทราบว่า นี่เป็นอู่ แต่ไม่ทันได้เห็นกิจกรรมต่างๆของความเป็นอู่ในอดีต”
คำว่าอู่ตะเภา มีอยู่หลายแห่งในประเทศ ซึ่งนักโบราณคดีชี้ว่า แต่ละแห่งล้วนแล้วแต่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ภูมิศาสตร์ ในฐานะทางยุทธศาสตร์ พาณิชยศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ทั้งสิ้น เพราะสมัยก่อนการ สัญจรทางน้ำสำคัญมาก
เมื่อเป็นเช่นนั้น ชมรมรวบรวมเรื่องเมืองหาดใหญ่ จึงตั้งสมมติฐานว่า หาดใหญ่ ซึ่งอยู่ริมคลองอู่ตะเภา ตรงที่คลองมีขนาด ค่อนข้างกว้าง มีหาดทราย ผุดขึ้นมากว้างขวาง และมีตลาดนัดขนาดใหญ่. มีเรือขนาดใหญ่มาจอดครั้งละไม่
ต่ำกว่าห้าสิบลำ (เรือที่ว่านี้ยืนยันได้แน่นอนว่า มีเรือสำเภาที่แล่นใบออกไปได้จนถึงนราธิวาสด้วย เพราะลูกหลานของท่านที่ค้าขายทางเรือสำเภา ยังมีชีวิตอยู่และยืนยันได้) เป็นชุมทางของการค้ามานานแล้ว
นอกจากนั้นจากหลักฐานการรบทัพจับศึกที่มีผู้บันทึกถึงหาดใหญ่ชัดเจน ในสมัยศึกเมืองไทรในรัชกาลที่3 ก็บอกถึง
การเป็นชุมทางการรวบรวมไพร่พล เสบียงอาหาร และสัตว์พาหนะในสงครามในภาคใต้ ที่จะเชื่อมโยงจากกรุงเทพฯ นครศรีธรรมราชทางเหนือกับสงขลาฝั่งตะวัน-ออก เพื่อไปทำการรบทางฝังตะวันตก
“ธราพงศ์ ศรีสุชาติ”ผู้อำนวยการสำนักโบรณคดีและพิพิธภัณฑ์ที่ 10 ยังสันนิษฐานว่าในการหลบหนีกบฏที่เมืองไทรบุรี ของพระยาไทรบุรี (แสง) นั้นการถอยร่น อพยพลูกเมียและบริวาร ออกมาเข้าเขตไทยให้เร็วที่สุด น่าจะมาทางน้ำ ซึ่งใช้เป็นทางสัญจรกันอยู่นานแล้ว มาตั้งค่ายรวบรวมไพร่พลต่อสู้กันที่หาดใหญ่ (ส่วนลูกเล็กเด็กแดง คงจะพาเลยเข้าไปถึงทะเลสาบ และหลบภัยสงครามในเขตเมืองพัทลุงเพราะปรากฎข้อความในจดหมายของหลวงอุดมสมบัติว่าพระยาไทรบุรี
(แสง) หนีกบฎไปพัทลุงขณะที่พงศาวคารสงขลาฉบับพระยาวิเชียรคีรี (ชม) บอกว่า พระยาไทรบุรี (แสง)หนีกบฏมาที่หาดใหญ่…..ผู้เขียน)
คนหาดใหญ่หลายคนยังเคารพบูชา “ทวดด้วน”คือปืนใหญ่ที่ชำรุดลอยตามน้ำมาฝังตัวแถวชายหาดที่ หาดใหญ่ ปัจจุบันเอาขึ้นมาไว้ที่ศาลาริมคลองอู่ตะเภาในบริเวณโรงเรียนช่างกลภาคใต้เทคโนโลยี ถนนพลพิชัย (ปืนใหญ่คงลอยน้ำลำบาก นอกจากเคลื่อนตัวตามกระแสน้ำที่ไหลแรงมากในฤดูน้ำหลาก และอะไรที่ตั้งไว้เคารพบูชา คนทางใต้เรียก ทวด ในความหมายมีเทวดารักษาและยังรวมถึงเจ้าป่าเจ้าเขาด้วย) ซึ่งแสดงว่า มีสมรภูมิอยู่บริเวณหาดใหญ่จริง
เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นขึ้นบกที่สงขลา ด้วย และใช้หาดใหญ่เป็นกองบัญชาการการรบแห่งหนึ่งโดยมาเจรจาจะเอาบ้าน ท่านขนนิพัทธ์จีนนคร เป็นที่ตั้งกองบัญชาการ แต่ ขุนนิพัทธ์ฯขอให้ไปใช้บ้านบุตรสาวของท่าน (ที่ปัจจุบันเป็นห้างสยามนครินทร์) แทน
และเมื่อปี 2485 ญี่ปุ่นได้สร้างสะพานข้าม คลองอู่ตะเภา ตรงข้างที่ว่า การอำเภอซึ่งก็ติดกับตลาดนัดหาดใหญ่เดิม การสัญจรทางบกระหว่างอำเภอและจังหวัดใกล้เคียงจึงรวดเร็วขึ้นมีทั้งรถไฟและถนน ทำให้การสัญจรทางน้ำลดความสำคัญลงไป จนกระทั่งตลาดนัดก็หายไป ชุมชนที่เคยคึกคักแถวถนนสาครมงคล ถนนราษฎ์เสรีก็ซบเซาไปหมด คนหาดใหญ่รุ่นใหญ่แทบจะลืมไปเลยว่าหาดใหญ่มีคลองอู่ตะเภา
คลองอู่ตะเภาที่เคย มีความสำคัญมากในประวัติ-ศาสตร์ ตั้งแต่ยุคแรกๆ ของประวัติศาสตร์มาจนไม่นานมานี้เอง มีความสำคัญไม่เฉพาะในแถบภาคใต้ตอนล่างแต่สำคัญในระดับภูมิภาค ซึ่งถ้าเชื่อมต่อไปถึงเมืองคังงา เมืองเคดะ เป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรดังกล่าวข้างต้น อาจารย์พิชัย ศรีใส แห่งศูนย์ศิลปวัฒนธรรมหาดใหญ่
จึงกล่าวว่า หาดใหญ่ สงขลา เป็นศูนย์กลางของโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจไทย-มาเลเซีย-อินโดนีเซีย (IMT – GT) มาตั้งแต่โบราณ อาจจะอยู่ในเส้นทางสายไหมตอนล่างด้วยก็ได้
ด้วยความเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมของหาดใหญ่เองที่ไม่ไกลจากเมืองสำคัญๆโดยรอบตั้งแต่ สตูล ไทรบุรี ปัตตานี พัทลุง นครศรีธรรมราช ตรัง ตะกั่วป่า พังงา ภูเก็ต ที่ทั้งในอดีตและปัจจุบันมี เส้นทางสัญจรที่ไปมาได้สะดวก จากทางน้ำในอดีต
มามีทางรถไฟ มีถนน มีทางอากาศ รวมทั้งมีโทรเลขโทรศัพท์ โทรคมนาคมอื่นๆ
หาดใหญ่จึงคงความเป็นชุมทางอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความเป็นชุมทางของคนค้าคนขายและธุรกิจชุมทางของวิชาการชุมทางของศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลาย จากผู้คนเชื้อชาติและศาสนาต่างๆ ที่เดินทางเข้ามา ผสมกลมกลืนกันอย่างค่อนข้างจะกลมเกลียวไม่มีปัญหามาเนิ่นนาน
เมื่อจะตามหารากหาฐานกันชาวหาดใหญ่คงไม่ลืมตามหาชุมชนวิถีชีวิตภูมิปัญญาของผู้คนในลุ่มน้ำอู่ตะเภาไปพร้อมๆ กันด้วย ที่สำคัญแหล่งน้ำกินน้ำใช้ในเมืองหาดใหญ่ก็มาจากคลองอู่ตะเภา เป็นที่น่าดีใจว่า ทางต้นน้ำคลองอู่ตะเภา มีกลุ่ม
ศึกษาชุมชนในลุ่มน้ำนี้อย่างเป็นระบบถี่ถ้วนเป็นไปได้ว่าในอนาคต คงจะเชื่อมต่อกลุ่มศึกษาลุ่มน้ำนี้ช่วงต่างๆ ได้ตลอดลุ่มน้ำและเมื่อเชื่อมต่อได้ภาพครบอาจจะเป็นลุ่มน้ำแรกในประเทศที่ประชาชนคนเล็กคนน้อยเราศึกษาค้นคว้าตามหาราก
หารอยของเราเอง โดยมีนักวิชาการและข้าราชการที่สนใจมาร่วมมือสนับสนุนอย่างเต็มอกเต็มใจดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
ภาพ : เก่ง ช่างวิดีโอหาดใหญ่