หนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส (โฟกัสสงขลา) ปีที่ 2 ฉบับ 55 วันที่ 30 พฤศจิกายน – 6 ธันวาคม 2541
หลังการประชุมของ “ชมรมรวบรวมเรื่องเมื่องหาดใหญ่” เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2541 มีมติให้มีการสำรวจเส้นทางการค้าทางน้ำเพื่อสืบเสาะหาประวัติศาสตร์อันเกี่ยวเนื่องกับเมืองหาดใหญ่
16 พฤศจิกายน 2541 คณะผู้บุกเบิก อันนำโดย นายธราพงษ์ ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ 10 จังหวัดสงขลา และ นายพิชัย ศรีใส จากศูนย์ฯ บ้านคลองรำวัฒนธรรมอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก็ได้เริ่มภารกิจที่มี “นายขาว สุขแก้ว” วัย 60 กว่าปีที่เคยค้าขายทางน้ำในเส้นทางอู่ตะเภามาตั้งแต่วัยเพียง 13 ปี
เป็นผู้นำทาง
“เราใช้การเดินทางทางบกก่อน เพราะทางน้ำยังไม่มั่นใจว่าจะปลอดภัยพอ โดยจุดเริ่มต้นได้กำหนดไว้ที่ปากบางคลองแงะ เพราะเป็นแพร่งน้ำที่สำคัญ ที่ต่อโยงไปถึงบ้านระตะ บ้าน สำนักแต้ว
บ้านห้วยคู บ้านควนลัด และต่อไปถึงต้นน้ำที่เขาน้ำค้าง
และอีกแยกหนึ่ง ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าทางเรือหลักที่ต่อไปยังบ้านท่าโพธิ์ บ้านคลองทราย บ้านคลองรำ บ้านบางควายท่าพ่อย แล้วแยกไปด้านใต้ที่บ้านชายควน และปาดังเบซาร์
ขณะที่อีกทางหนึ่งก็ไปออกบ้านนา บ้านเขารูปช้าง ก่อนเข้าเขตแดนมาเลเซีย” อ.พิชัย ศรีใส เล่าถึงเส้นทางน้ำที่อยู่ในเป้าหมายการสำรวจคร่าวๆ การสำรวจเส้นทางท่ามกลางสายฝนอันเริ่มที่ “ปากบางคลองแงะ” ซึ่งพอเข้าใจได้ว่าเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญ ได้เมื่อพบว่า ณ จุดนี้มีลำน้ำทั้งกว้างและลึก จากนั้น คณะก็ขึ้นไปถึงบ้านท่าโทธิ์ ซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิม มีผู้คนตั้งบ้านเรือนอย่างหนาแน่น ทั้งไทยพุทธ และมุสลิม จุดนี้ “ลุงขาว” บอกว่า ท่าน้ำเดิมจะอยู่หน้า “วัดสองพี่น้อง” แต่เดี๋ยวนี้เป็นหลังวัดแล้ว “ท่าโพธิ์-คลองอู่ตะเภา เป็นเส้นทางการค้าทางเรือแน่นอน“
คณะสำรวจ มั่นใจในข้อมูล ด้วยเหตุผลหลังจากที่พบ “อุดม กลางแก้วสุข” ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 8 สีฟ้าตำบลท่าโพธิ์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และ “อุดม” ได้เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ได้พบเหรียญ ซึ่งเป็นเงินตราโบราณ ทำด้วยตะกั่ว เจาะรูตรงกลาง ขนาดเท่าเหรียญ 5 บาทขนาดใหญ่ที่ยกเลิกใช้ไปแล้ว ด้วยอักษรไทยว่า “สงขลา” สลับอักษรจีน และภาษาอาหรับหรือมลายู (ยังไม่แน่ใจ เพราะต้องรอพิสูจน์อักษรอีกครั้ง) ซึ่งเหรียญดังกล่าวนี้พบที่ท้องคลอง บริเวณ “ท่าลุงทิม” โดยกองอยู่ประมาณ 500 เหรียญ
นอกจากนี้ “ผู้ใหญ่ฯ อุดม” ยังได้นำถ้วยชามที่ยังสมบูรณ์อยู่ ที่ได้มาจากคลองเช่นเดียวกันมาให้คณะฯ ดู ซึ่ง “ผอ.ธราพงษ์” มองดูก็รู้ว่าเป็นถ้วยชามสมัยต้นรัตนโกสินทร์
“เพียงแค่จุดแรกก็พบหลักฐานมากมาย และเชื่อมั่นว่า คลองอู่ตะเภานี้ เป็นเส้นทางการค้าแน่นอน เพราะคนธรรมดาคงไม่มีใครพกเงินเป็น 500 เหรียญแบบที่พบนี้” อ.พิชัย ศรีใส กล่าวท่ามกลางกำลังใจในการสำรวจที่เพิ่มขึ้นอีกมาก ก่อนที่จะเดินทางไปยังวัดแห่งหนึ่งทางเหนือขึ้นไป และเลาะถึงไป “ปากบางคลองรำ” ซึ่งกว่าจะถึงเป้าหมายได้ก็ต้องเหนื่อยกับการถามชาวบ้านหลายครั้ง
ฝนยังคงตกหนักตลอดสายเหมือนการเพิ่มบรรยากาศให้การบุกเบิกเต็มไปด้วยสีสัน การค้นหาปากบางคลองรำ ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ลุงขาว แยกออกไปถามหาคนเก่าคนแก่บริเวณนั้น ขณะที่ “อ.พิชัย” และ “ผอ.ธราพงษ์” บุกเข้าไปในป่าเพื่อค้นหาปากบางที่แท้จริง(ทางแยกระหว่างคลองรำ และคลองร่ำหนุ่ย) ซึ่งระหว่างทางที่เต็มไปด้วยความชื้น ก็ได้พบร่องรอย “การตั้งค่ายตชด.ยุคสงครามกลางเมือง”ผ้ายางสีเขียว-สีฟ้ายังกระจายอยู่เต็มบริเวณ ก่อนที่จะเข้าไปถึงจุดเป้าหมายที่ต้องการโดยมีทางแยกหนึ่งจะขึ้นไปคลองรำหนุ่ย ที่จะต่อไปถึงวังแป้น เข้าเขตปาดังเบซาร์
ขณะที่อีกทางหนึ่งชาวบ้านแถบนั้นบอกว่า จะขึ้นไปยังบาโรย และบ้านเขารูปช้าง
“ลุงขาว” สะท้อนความจำ ณ จุดนี้ทันทีว่า “เหนือน้ำเขตคลอง-รำขึ้นไปจะเป็นแหล่งรับซื้อสินค้าประเภทของป่า โดยสินค้าหลักที่ลุงขาวไปซื้อจะเป็นประเภทกล้วย ซึ่งตอนขาขึ้นก็จะนำหม้อสวด (ที่นึ่งข้าวเหนียว) ไปขาย ซึ่งบริเวณนี้จะเป็นจุดสุดท้ายสำหรับการค้าขายทางเรือของลุงขาว”
“ยายนวลศรีสุวรรณ” ผู้ซึ่งวัยล่วงเลย 80 มา 2 ปี แห่งตำบลทุ่งหมออำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา บอกว่า ด้วยที่เคยเป็นคนค้าขายในเส้นทางนี้มาตลอดจำได้ว่า จุดค้าขายสำคัญคือ “ท่าเณรศรี-คลองรำ” โดยจะค้าขายกันมากในช่วง “หน้าน้ำ” ส่วนเหนือคลองขึ้นไปจากปากบางคลองรำ ก็จะมีคนล่องเรือและแพนำของของป่าและไม้มาทำบ้านเรือน
อีกกลุ่มหนึ่งมาจากตอนล่างของน้ำ ทั้งที่เป็น “พระ” จากวัดต่างๆ “คนต่อเรือ” รวมถึงคนจากลุ่มทะเลสาบ ที่มาโกลนเรือจากต้นไม้ขนาดใหญ่ล่องลงไปล่างน้ำประจำทุกปี
ตำนาน “หินการำ”
การบุกเบิกครั้งนี้ยังได้พบตำนานที่น่าตื่นเต้น อีกเรื่องหนึ่งคือ “หินการำ” ซึ่ง “ลุงเปี้ยน ทองสุข” อายุ 62 ปี แห่งบ้านทุ่งหมอเช่นกัน ได้เล่าให้คณะเดินทางว่า “หินการำ” เป็นก้อนหินสีดำสนิทขนาดเท่ารถกระบะหน้าเรียบเป็นลานเมื่อถึงวันพระจะมีอีกาสีดำ-สีขาว ลงมาจับและส่งเสียงร้องรำอยู่เสมอ
ดังนั้น ผู้คนจึงเรียกกันติดปากว่า “การำ” ซึ่งสอดคล้องกับพงศาวดารที่พระยาวิเชียร(ชม) บันทึกเหตุการณ์ครั้งกบฏเมืองไทรปี พ.ศ. 2382 (ศักราช 1200)…พระยาสงขลา จึงจัดให้ พระยาตานี พระยายิรัง พระยาสาย พระจนะ คุม ไพร่ 1,000 คน ไปตั้งรักษาทางตำบลบ้านพะตง บ้านการำไว้ ให้หลวงพลสงคราม หลวงไชยสุรินทร์คุมไพร่ 500 คน รีบไปตั้งรักษาเมืองจนะไว้ และให้หลวงบริรักษ์ ช่วยราชการเมืองสงขลา เป็นกองส่งเสบียงอาหาร อยู่ที่ตำบลท่าหาดใหญ่…
วันนั้น “ลุงเปี้ยน”ได้นำไปยังจุดที่เป็นที่ตั้งของ “หินการำ” ซึ่งเป็นสวนยางริมคลองการำ ซึ่งชาวบ้านเรียกบริเวณนั้นว่า “ทุ่งค่าย” แต่ปรากฎว่า ไม่พบ ประกอบกับฝนที่ยังตกลงมาอย่างหนักทีมงานจึงต้องหยุดความตั้งใจในการค้นหาไว้ก่อน พร้อมกับสัญญากับตัวเองว่า”จะกลับมาค้นหาใหม่ในเร็วๆ นี้“
“ตลาดคลองรำ” คือที่เติมเสบียงให้ร่างกายที่อ่อนล้าเต็มที ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยัง คลองรำ-หนุ่ย ปาดังเบซาร์ เกือบถึงบ้านท่าข่อย แล้วตัดออกถนนกาญจนวนิช(ถนนไทรบุรีในอดีต) เข้าตลาดสะเดา ไปตลาดปาดังฯ ก่อนต่อไปยังบ้านเขารูปช้าง และสิ้นสุดลงด้วยเวลาอันจำกัดที่ “วัดถ้ำเขารูป-ช้าง”
อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปจากการเดินทาง 1 วันเต็มของทีมบุกเบิกสำรวจเส้นทางการค้าทางน้ำ-อู่ตะเภา” สรูปตร่งกันว่า หลักฐานต่างๆ ที่ได้ วันแรกคือว่า คุ้มค่า และพอจะเห็นเค้าโครงชัดเจนว่า “คลองอู่ตะเภา” เป็นเส้นทางค้าขายมาแต่โบราณจริง
ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ที่จะเป็นเชิงหลักฐานอ้างอิงและเป็นระบบที่ชัดเจน ต้องใช้เวลาสำรวจและข้อมูลอื่น ๆประกอบอีกหลายด้าน ซึ่งแน่นอนภารกิจของคณะสำรวจคงต้องมีอีกหลายครั้ง กว่าที่จะถึงวันสรุปวันนั้น!!
ข้อมูลข้างต้น เป็นการเปิดเวทีเรียนรู้ประวัติศาสตร์หาดใหญ่ ท่านใดมีข้อมูลจะร่วมเผยแพร่ และสนใจร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ส่งมาได้ที่ เพจ สงขลาโฟกัส หรือคอมเมนต์ใต้โพสต์นี้
ภาพ : เก่ง ช่างวิดีโอหาดใหญ่