หนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส ปีที่ 2 ฉบับที่ 54 วันที่ 23-29 พฤศจิกายน 2541 พลิกแฟ้มประวัติศาสตร์หาดใหญ่ ฉบับนี้ “อรัญ จิตตะเสโน” รองประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา และหนึ่งในสมาชิกชมรมรวบรวมเรื่องเมืองหาดใหญ่ ได้ร่วมเสนอข้อมูล “หาดใหญ่” ในอีกมิติหนึ่ง ซึ่งทำให้เห็นถึงความเก่าแก่ และความสำคัญของเมืองได้ชัดลึกยิ่งขึ้น
หาดใหญ่เมืองไร้รากจริงหรือ?
หาดใหญ่เจริญเติบโต มาได้ด้วยอะไร? โดยใคร?
คนหาดใหญ่ มักจะมีปัญหากับคำถามเหล่านี้เสมอมา จึงขออนุญาตชี้แจงและแสดงความคิดเห็นูเพื่อตอบคำถามเหล่านี้ ดังนี้คือ
ถ้าคำว่า “หาดใหญ่เมืองไร้ราก” หมายถึง หาดใหญ่ไม่มีชื่อ ประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน เช่น บ้านเมืองอื่นขออนุญาต ตอบว่า “ไม่จริง” เพราะชื่อและประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ปรากฎอยู่ใน “พงศาวดารเมืองสงขลา” ที่เรียบเรียงโดย พระยาวิเชียรคีรี (ชม) เมื่อยังเป็น “พระยาสุนทรานุรักษ์” และจัดเก็บหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
อีกทั้ง ได้ตรวจสอบรายละเอียดบางอย่างจากพงศาวดาร รัชกาลที่ 3 และ จดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ ซึ่งจัดเก็บอยู่ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเช่นกัน ได้ความตรงกันว่า ในปี พ.ศ.2381 ตนกูหมัดสะวะ (ตวนกูอาหะหมัดสะอิด) หลานเจ้าพระยาไทรบุรี (คนเดิมซึ่งเป็นอิสลาม) ได้ซ่องสุมสมัครพรรคพวกยกทัพจากเกาะหมาก (เกาะปีนัง) เข้าตีชิงเอาเมืองไทรบุรีพระยาอภัยธิเบศร์ บุตรเจ้าพระยานคร ซึ่งครองเมืองไทรบุรีอยู่ทานกำลังไม่ได้ ได้ยกครอบครัว ล่าถอย (มาตามทางน้ำคือ คลองอู่ตะเภา) มา
ตั้งอยู่ที่ “ตำบลท่าหาดใหญ่แขวงเมืองสงขลา” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ให้เจ้าพระยานคร กับพระยาสงขลา ยาทัพไปปราบกบถ พระยาสงขลาเกณฑ์ไพร่ได้สำเร็จแล้วรีบยกขึ้นไปตั้งอยู่ที่ “ท่าหาดใหญ่” และให้หลวงบริรักษ์ภูเบศร์ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา เป็นกองส่งเสบียงอาหารอยู่ที่ตำบลท่าหาดใหญ่
จึงเห็นได้ว่า หาดใหญ่ (เก่า) ซึ่งอยู่บริเวณ “คลองอู่ตะเภา” คือ “หาดใหญ่ใน” ในปัจจุบันมีชื่อปรากฎอยู่ในพงศาวดารเมืองสงขลา มาตั้งแต่ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นคือ สมัยรัชกาลที่ 3 ปี พ.ศ.2381 นับถึง ปัจจุบันก็ 160 ปีแล้ว และนี่เป็นอย่างน้อยส่วนจะยาวนานมาก่อนนั้นเท่าไรไม่ทราบได้
บางท่านอาจจะตั้งคำถามว่า ทำไมจึงเรียกว่า “ท่าหาดใหญ่” ก็เพราะหมายถึงเอา “ท่าทรายใหญ่ในคลองอู่ตะเภา” ซึ่งเป็นทั้งท่าจอดเทียบเรือและสถานที่นัดพบของพวกพ่อค้าวาณิชย์ ทางน้ำ ทางเรือ มาประชุมค้าขายกันในวันเสาร์และวันอาทิตย์ ซึ่งมักจะมาถึงกันในตอนเย็นวันศุกร์ และบางคนจะกลับในตอนเช้าวันจันทร์
แสดงว่าเป็น “ตลาดนัดใหญ่ทางน้ำ” ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมหลักในอดีต แสดงว่า คลองอู่ตะเภาในอดีตเป็นคลองใหญ่มากนอกจากจะเป็น “เส้นทางคมนาคม” แล้วยังเป็น “เส้นทางธุรกิจ” ด้านค้าขาย และเป็น “เส้นทางยุทธศาสตร์” อีกด้วยสามารถ ติดต่อกันได้ระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิค ทะเลจีนใต้ด้านอ่าวไทยฝั่งตะวันออก
โดยผ่านเข้ามาทางทะเลสาบสงขลา เข้าคลองอู่ตะเภา (ซึ่งเป็นสถานที่ซ่อมสร้างเรือ และยังมีชื่อ “โอเภา” เป็นสถานที่จริงในปัจจุบัน) ผ่านไปได้ถึงไทรบุรี ด้านมหาสมุทรอินเดีย ทะเลอันดามันฝั่งตะวันตก เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ ในอดีตนั้น และยังมีผู้สูงอายุเกินกว่า 70 ปี ซึ่งอยู่บริเวณนั้นยังทันได้รู้ได้เห็น “ตลาดนัดทางน้ำ” “ท่าหาดใหญ่” อีกมากท่านนอกจากยังจำตลาดนัดได้แล้วยังจำท่าหาดทรายใหญ่ในคลองอู่ตะเภาได้ ยังจำได้ว่าที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ในอดีตหันหน้าลงคลองอู่ตะเภา เป็นต้น
ส่วนหาดใหญ่ ในปัจจุบันเป็น “หาดใหญ่ใหม่” เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับทางรถไฟหาดใหญ่ สถานีรถไฟหาดใหญ่ ซึ่งย้ายหนีน้ำท่วม มาจากสถานีคลองอู่ตะเภา โดยมีคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งในกลุ่มนั้นมีขุนนิพัทธ์จีนนคร (ต้นตระกูลจิระนคร) รวมอยู่ด้วยได้ประชุมกัน และเอาชื่อหาดใหญ่มาตั้งชื่อเมือง (โดยยืมชื่อมาจากท่าหาดใหญ่ในอดีตมาใช้) เพราะคนรู้จักดีอยู่แล้วไปมาหาสู่ติดต่อค้าขายกันอยู่แล้ว แต่ที่ไม่มีคำว่า “ท่า” ติดมาด้วยก็เพราะ “หาดใหญ่ใหม่” ไม่ใช่ท่าทราย ไม่ใช่ท่าเทียบเรือเช่นอดีต และเส้นทางคมนาคม เส้นทางค้าขายได้เปลี่ยนมาเป็นทางบก คือทางรถไฟ ไปตั้งแต่นั้นคือ ประมาณ 80 ปีมานี่เอง เดิมเรียก “บ้านโคก (ที่สูง) เสม็ดชุน” คือหาดใหญ่ ด้านทิศตะวันออก (สาย 1 สาย 2 สาย 3 : นิพัทธ์อุทิศ) ของสถานีรถไฟหาด-ใหญ่ปัจจุบันนั่นเอง
หาดใหญ่ ปัจจุบันก็เริ่มต้นเป็น “ชุมทาง” เป็นเส้นทางค้าขายทางบก เติบโตในเชิงธุรกิจพาณิชย์กรรมเฉกเช่น หาดใหญ่เก่าเหมือนกันและเจริญเติบโต (ทางค้าขาย) มาจนปัจจุบัน
จึงขอสรุปว่า “หาดใหญ่เป็นเมืองมีรากและรากลึกด้วย” หาดใหญ่ ทั้ง 2 ยุคเจริญเติบโตมาได้ด้วยธุรกิจเชิงพาณิชย์ คือการค้าขาย และหาดใหญ่ทั้ง 2 ยุคเติบโตมาโดยภาคเอกชนคือ เป็นเมืองราษฎร์สร้าง ไม่ใช่หลวงสร้าง” หรือราชการสร้าง จึงขอให้ชาวหาดใหญ่ทุกคนภาคภูมิใจในสิ่งเหล่านี้ ร่วมกันด้วย