ปีที่ 2 ฉบับที่ 53 วันที่ 16-22 พฤศจิกายน 2541 “โฟกัส” ฉบับนี้ อ.พิชัย ศรีใส จากศูนย์วัฒนธรรมอำเภอหาดใหญ่ หนึ่งในสมาชิก “ชมรมรวบรวมเรื่องเมืองหาดใหญ่ได้” ส่งข้อมูลประวัติศาสตร์หาดใหญ่ในมิติ “ชุมทางการค้าทางน้ำ” ที่ได้จากการสัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่หลายคนจนมองเห็นภาพได้ชัดเจน มานำเสนอก่อนที่จะเชื่อมโยงในถึงความเป็นศูนย์กลางของเมืองนี้ในปัจจุบันและอนาคต
“อ.พิชัย” ได้เกริ่นนำถึงชมรมรวบรวมเรื่องเมืองหาดใหญ่ ว่ากำลังทำหน้าที่ในฐานะพลเมือง ตามรัฐ-ธรรมนูญที่กำหนดสิทธิไว้ตามบทบัญญัติของมาตรา 46 ว่า “บุคคลซึ่งรวมตัวกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน”
ทั้งนี้ ตามกฎหมายบัญญัติเช่นนี้แล้วคงไม่ผิดอะไรที่คนธรรมดาๆ จะร่วมกันสืบสานให้รู้แท้ถึงความเป็นมาของบ้านเมืองที่ตนตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ด้วย
ทั้งยังเชื่อว่าไม่เฉพาะแต่คนที่อาศัยอยู่ในเมืองหาดใหญ่เท่านั้นจะร่วมรู้ ร่วมคิด “หาดใหญ่” ชื่อนี้ย่อมเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันคนอื่นถิ่นอื่นอีกมากมาย
จึงจะเป็นการดียิ่งหากจะมีผู้ร่วมคิดร่วมสร้างได้ขยายวงออกไปเป็นความนึกคิดของสาธารณะประวัติศาสตร์เมืองหาดใหญ่จะสมบูรณ์ยิ่งขึ้นอ่านแล้วเกิดรสชาติ
อีกทั้ง ยังก่อสำนึกที่ดีงามแก่คนรุ่นหลังอีกต่อไป“การศึกษาค้นคว้าว่าได้ก้าวหน้าไปมากทีเดียว ข้ามพ้นคำสบประมาทว่า หาดใหญ่เมืองไร้รากไปแล้ว”
จากการประชุมสมาธิกชมรมฯ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2541 ที่ประชุมมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า “หาดใหญ่” ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วเวลา 70-80
ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ค้นพบกันต่อไปว่าหากจะศึกษาประวัติศาสตร์เฉพาะแต่วีรกรรมของบุคคลแล้วจะมีข้อจำกัดเป็นอย่างมาก เพราะเป็นความภาคภูมิใจของลูกหลานที่มีต่อบรรพบุรุษของตน จึงพยายามจะกล่าวแต่เฉพาะเรื่องราวของตน ซึ่งก็ไม่น่าเกลียดอะไร หากแต่นี่เป็นเรื่องราวของบ้านเมืองจึงต้องศึกษากันให้รอบด้านดึงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องทั้งหมดเท่าที่จะทำได้เข้ามาเรียบเรียงอย่างใจเป็นกลางมุ่งประโยชน์บ้านเมืองเป็นที่ตั้ง
พอทราบกันอยู่บ้างสำหรับผู้สนใจคิดตามการเสนอเรื่องราวเมืองหาดใหญ่จาก “โฟกัส” ว่า ชื่อ “หาดใหญ่” ยังสรุปชัดไม่ได้ว่ามาจากหาดใหญ่ ๆ ริมคลองอู่ตะเภา หรือมาจาก “ต้นมะหาด” ต้นใหญ่
แต่ก็ใช่จะสิ้นหวังเลยทีเดียวหลักฐานที่กำลังสืบค้นอยู่ในขณะนี้ยังพอมีแนวทางให้สืบค้นอยู่อีกมาก
ที่แน่นอนชื่อ “หาดใหญ่” มีปรากฎในหลักฐานทางการมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เวลาไม่น้อยกว่า 160 ปี และชื่อก็ยิ่งใหญ่พอที่จะถูกนำมาตั้งเป็นสถานีรถไฟ เมื่อสร้างสถานีรถไฟเสร็จ เปลี่ยนป้ายจากโคกเสม็ดชุน เป็นสถานีรถไฟหาดใหญ่
ตลาดโคกเสม็ดชุนก็เป็น “ตลาดหาดใหญ่” ซึ่งเดิมตั้งอยู่หลังที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ ริมคลองอู่ตะเภา และเรียกรวมทั้งหมดว่า “หาดใหญ่” เพื่อยืนยันสำหรับผู้ที่ไม่ได้ติดตามมาตลอดด้วยการขอท้าวความเดิมสักเล็กน้อยเพื่อเพิ่มความมั่นใจ
“พระยาวิเชียรคีรี(ชม)” บันทึกไว้เป็นหลักฐานว่า เกิดกบฏเมืองไทรขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2381 สมัยรัชกาลที่ 3ในการปราบกบฏครั้งนั้น การจัดทัพ การตั้งทัพ การส่งเสบียง ตลอดจนการหลบหนีภัยจากข้าศึก “หาดใหญ่” เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ
ครั้งเสด็จกลับจากการเสด็จประพาสประเทศอินเดีย ของรัชกาลที่ 5 ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ได้กล่าวถึงการประทับแรมที่หาดใหญ่ ณ หาดทราย และทรงเรือพระที่นั่งเก๋งต่อไปยังพลับพลาที่ประทับร้อนเกาะยอ จากหลักฐานทางการดังกล่าวชี้ชัดว่า หาดใหญ่นอกจากจะมีชื่อปรากฎอยู่นานแล้ว แต่ยังได้บ่งชี้ว่าหาดใหญ่ เป็นท่าสำคัญในเส้นทางคมนาคมทางน้ำ ที่ต้องใช้ในกิจการทหารในอดีตและเมื่อสอบถามบุคคลเพื่อเอาความว่า ก่อนสร้างทางรถไฟ เส้นทางทางน้ำ คลองอู่ตะเภา มีความสำคัญอย่างไร สำหรับชาวบ้านทั่วไป
ลุงอ่ำ นิลเพชร อายุ 88 ปี คนหาดใหญ่โดยกำเนิด อยู่บ้านเลขที่ 56/5 หมู่ 2 ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ บอกว่า ทั้งสองฝั่งคลองอู่ตะเภา บริเวณด้านข้างที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ด้านเหนือน้ำหากมองจากคลอง และฝั่งด้านศาลาลุงทอง มีตลาดนัดจับจ่ายสินค้ากันทุกวันอาทิตย์ เรือส่งสินค้า ร้านค้าชั่วคราวเรียงรายอยู่เป็นแนวยาวประมาณ 100-200 เมตร ทั้งสองฝั่งคลอง เรือสินค้าจะเริ่มทะยอยมาตั้งแต่วันศุกร์ จนนัดจ่ายกันเป็นวันสำคัญในวันอาทิตย์
ฝั่งด้านศาลาลุงทอง ชาวบ้านเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ท่าตก” และนั่นก็เป็นหาดใหญ่ในตัวจริงในคลอง นอกจากจะมีเรือขนส่งสินค้า และผู้คนแล้ว การข้ามฟากก็ยังมี “เรือข้ามฟาก” รับส่งผู้คนอยู่เป็นประจำทุกวัน เก็บค่าข้ามฟากคนละหนึ่งสตางค์
อีกท่านหนึ่งเป็นหญิงสูงอายุ ชื่อ “นางแฉล้ม แสนพิพัฒน์” สกุลเดิม “โพธิ์ชะเรือง” ซึ่งเติบโตอยู่ท่าตกตลอดมา และสมรสกับ “นายพูน แสนพิพัฒน์” ชาวบางทีง ต.ปากรอ อ.สิงหนคร จ.สงขลา ผู้มาทางเรือจากตอนล่างของคลองอู่ตะเภา บอกว่า ที่ท่าหาดใหญ่ เป็นตลาดนัดริมคลอง ผู้คนมาตั้งบ้านเรือนอยู่สองฝั่งคลอง คนที่มาค้าขาย นอกจากมาทางเรือแล้วยังมีคนนำสินค้าประเภทของป่า สัตว์ป่า กล้วย ผัก ผลไม้ชัน น้ำมันยาง ฯลฯ มาจากวังพา คลองหอยโช่ง นาหม่อม และบริเวณใกล้เคียงอีกมาก
ที่ริมคลองอู่ตะเภา จะเป็นที่สูงทำนาไม่ได้ ส่วนที่อื่นๆ เช่น บริเวณสะพานดำ ไทยโฮเต็ล จะเป็นทุ่งนา โดยเฉพาะสี่แยกสะพานดำ จะเป็นพรุใหญ่ และบอกว่า สะพานอู่ตะเภาเดิมชาวบ้านเรียกกันว่า “สะพานญี่ปุ่น”
นายฉ่ำ ขุนเพชร อยู่บ้านเลขที่ 56/1 หมู่ที่ 3 ต.คำใต้ อ.รัตภูมิ ซึ่งมาอยู่หาดใหญ่บ้านครูปลื้ม(บิดาอดีตเทศมนตรีเมืองหาดใหญ่-นายเฉรียง ณ พัทลุง) ตั้งแต่อายุ 7 ปี บอกว่า ริมคลอง มีต้นกะท้อน ต้นมะม่วงคันใหญ่ อยู่ทางฝังท่าออก ในคลอง บริเวณใกล้ศาลาลุงทอง มีต้นไม้ล้มขวางคลองอยู่ต้นหนึ่ง ไม่ทราบว่า เป็นต้นอะไร
ลุงฉ่ำ บอกว่า ตนเป็นคนที่เข้าออกค่ายทหารญี่ปุ่นเป็นประจำ เพราะยังเป็นเด็ก เมื่อโรงเรียนปิดเทอมก็ไปทำงานกับทหารญี่ปุ่น ซึ่งเดิมเป็นหมอญี่ปุ่นในตลาด มาฉีดวัดซีนให้เด็กๆ เมื่อญี่ปุ่นขึ้น
เมือง กลายเป็นนายทหารญี่ปุ่นยศร้อยเอก แกทำงาน ช่วยแปลภาษีญี่ปุ่นเท่าที่พอจะทำได้แต่หน้าที่สำคัญคือเป็นเด็กซื้อกับข้าวจากตลาดกิมหยงให้
ทหารญี่ปุ่น ตั้งค่ายอยู่บริเวณโรงเรียนเทศบาล 2 และตรงข้ามบ้าน อดีต ส.ส.อนันต์ เรืองกูล เป็นที่ตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน 4-5 กระบอก เพราะที่ตรงนั้นมีต้นพะยอมขนาดใหญ่เท่าต้นมะพร้าวประมาณ 20 ต้น
ทหารญี่ปุ่น สร้างสะพานครั้งแรกเป็นสะพานไม้ เพื่อข้ามคลองอุตะเภาที่ฟากระหว่างฝังที่สูบน้ำของดับเพลิงปัจจุบัน กับท่าศาลาลุงทอง แต่ต่อมาก็มาสร้างเป็นสะพานอู่ตะเภา
นายบุญภา วัชรพันธ์ อดีตประธานประธานสภาจังหวัดสงขลา บุตรปลัดกลัด อายุ 60 ปี เกิดที่บ้านหาดใหญ่ บอกว่า ที่ริมคลอง บริเวณหาดทรายด้านศาลาลุงทอง มีต้นมะหาดต้นหนึ่งล้มอยู่ไม่ทราบว่าล้มอยู่ตั้งแต่เมื่อไร แต่สมัยเด็กๆ ลงไปเล่นน้ำในคลอง ก็มักจะไต่ตามขอนไม้ขอนนี้ และบอกว่า มีปลาปักเป้ามาก ต้องคอยระวังเพราะที่ขอนไม้นี้เป็นรังปลาปักเป้า เด็กรุ่นราวคราวเดียวกันที่เกิดและเติบโตบริเวณนี้จะลงเล่นน้ำที่ท่านี้ด้วยกันแทบทั้งนั้น โดยเฉพาะ เด็กที่ชอบซุกชนูทุกคนจะรู้จักขอนไม้ขอนนี้เป็นอย่างดี
“พี่ช้าง” ซึ่งเป็นชื่อเล่นของนายบุญพา เล่าถึงตลาดหาดใหญ่ว่า อยู่หลังอำเภอหาดใหญ่ในปัจจุบันเส้นทางเข้าสู่ตลาดจะปลูกต้นมะเฟือง 2 ข้างทางดูสวยงาม ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงดำรงอยู่