หนังสือพิมพ์ภูมิภาค รายสัปดาห์ ของคนใต้ ปีที่ 26 ฉบับที่ 1,315 วันที่ 18-24 ธันวาคม 2566
“ผู้ว่าฯ สมนึก” สั่ง SCEB ศึกษาข้อมูลโรดโชว์ไมซ์สงขลาในงานไมซ์ใหญ่ที่สุดในโลก ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต “ดร.ทรงสิน” เผยรุกงานเฟสติวัล-ล่ารางวัลระดับโลก-เชื่อมโยงชุมชน ขณะที่เอกชนเชื่อมั่นลงทุนสร้างอีก 2 ศูนย์ประชุม โดยเฉพาะ “Aura Convention Hall” จะใหญ่ที่สุดในภาคใต้
30 พฤศจิกายน 2566 นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนจังหวัดสงขลาสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการจัดงานไมซ์ระดับนานาชาติ ครั้งที่ 1 มี นางสาวดุษฎี พฤกษเศรษฐ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสงขลา, นายพัฒนชัย สิงหะวาระ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์กรมหาชน)หรือ TCEB, ดร.ทรงสิน ธีระกุลพิศุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการจังหวัดสงขลา(SCEB) พร้อมหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม CEO ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสงขลา
ดร.ทรงสิน ธีระกุลพิศุทธิ์ เผยว่า หลังจากที่ได้มีการขับเคลื่อนมาเป็นเวลาประมาณ 3 ปี จังหวัดสงขลากำลังมีศูนย์ประชุมแห่งใหม่เกิดขึ้น 2 แห่ง ที่แรกอยู่ที่โรงแรมเดอะซิกเนเจอร์ โฮเทล แอร์พอร์ตซึ่งจะเป็นศูนย์ประชุมขนาด 1,000 ตร.ม. รองรับการจัดประชุมสัมมนา และการจัดงานแสดงสินค้า ที่กำลังก่อสร้าง จะแล้วเสร็จประมาณเดือนสิงหาคม 2567 และศูนย์ประชุมที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้แซงหน้าศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
“เดิมประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี แต่อนาคตจะเป็น Aura Convention Hall ของคุณอเนก แซ่ตั้ง ในเครือเบญจพร บนถนนลพบุรีราเมศวร์ ขณะนี้ กำลังตอกเสาเข็มก่อสร้าง รวมถึงโรงแรมเบญจพร 2 ที่สร้างไปแล้ว 50 เปอร์เซ็นต์”
การเกิดขึ้นของศูนย์ประชุมทั้ง 2 แห่ง ตอกย้ำว่า ภาคเอกชนมั่นใจและเห็นโอกาสในการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมไมซ์สงขลา และนับจากที่ศูนย์ประชุมทั้ง 2 แห่งแล้วเสร็จ สงขลาน่าจะเป็นเมืองที่พื้นที่รองรับการจัดประชุมอันดับ 1 ในต่างจังหวัดสิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ ศูนย์ประชุมที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากนักลงทุนภายนอก แต่เกิดจาก
นักลงทุนในจังหวัดสงขลา ซึ่งจะแตกต่างจากเมืองอื่น ๆ ศูนย์ประชุมเกิดขึ้นมาจากนักลงทุนส่วนกลาง
ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงความยั่งยืน และความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจไมซ์ ซึ่งที่ผ่านมาได้ขับเคลื่อนเรื่องผ่านทางภาคเอกชนหลาย ๆ ราย แต่ที่นำเสนอการลงทุนของศูนย์ประชุมทั้ง 2 แห่ง จะทำให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเห็นภาพได้ชัดขึ้นว่าไมซ์จังหวัดสงขลากำลังเติบโต ซึ่งไม่ใช่การเติบโตเฉพาะแค่ตัวเองเท่านั้น โดยตัวเลขที่มีการเก็บข้อมูลสำหรับธุรกิจไมซ์ของจังหวัดสงขลาในปี 2562 มีนักเดินทางไมซ์อยู่ประมาณ 10,000 คนเศษ ในปี 2566 เกือบจะสิ้นปีแล้วจังหวัดสงขลามีนักเดินทางไมซ์ ประมาณ 15,000 คนเศษ
“เราจะเห็นว่าตัวเลขเพิ่มขึ้น แม้จะมีปัจจัยเรื่องสถานการณ์โควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และกำลังค่อย ๆ ฟื้นตัว และในปีนี้เราก็ได้รับการจัดอันดับเมืองไมซ์ที่มีการจัดงานอย่างยั่งยืนระดับโลก อันดับที่ 23”
จึงเป็นสัญญาณบวกในอุตสาหกรรมไมซ์ของจังหวัดสงขลา ที่ไม่เฉพาะภายในที่ภาคเอกชนลงทุนสร้างศูนย์ประชุมใหม่เพิ่มขึ้น 2 แห่ง แต่ภายนอกอุตสาหากรมไมซ์สงขลาก็ได้รับการยอมรับ ซึ่งน่าจะเป็นการขับเคลื่อนที่ดีที่มีการระเบิดจากข้างในที่เกิดจากความเข้มแข็งของภาคเอกชน“เดิมศูนย์ประชุมที่มีอยู่ในโรงแรม หรือห้างสรรพสินค้าที่เขามีความเข้มแข็งอยู่แล้ว รวมถึงอีกหลาย ๆ แห่งที่กำลังจะปรับปรุงพัฒนาเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มศักยภาพการรองรับอุตสาหกรรมไมซ์ของจังหวัดสงขลาได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น” แต่สิ่งที่มีการขับเคลื่อนในปี 2567 ประเด็นแรกคือ เรากำลังจะดึงงานสำคัญเพื่อสร้างเป็นเฟสติวัลของเมืองให้มากขึ้น โดยเน้นความยั่งยืน โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาท่านได้เน้นย้ำต้องยั่งยืน ยั่งยืนหมายความว่า เมืองสามารถขยับในเรื่องของอุตสาหกรรมไมซ์ด้วยกลไกภายในของเมืองเอง
ซึ่งเดินมาถูกทางแล้วตั้งแต่ปี 2566 ไม่ว่าจะผ่านโปรแกรมเรื่องเฟสติวัล อีโค โนมี คือการใช้ตัว เฟสติวัลขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมือง เช่น จังหวัดสงขลา เป็นเจ้าภาพในการจัดงานวิ่ง “หาดใหญ่ 21” ฮาฟมาราธอนครั้งที่ 1 เมื่อปี 2566 และจะจัดในครั้งที่ 2 ในปี 2567อันนี้เป็นเฟสติวัลของเมืองไปแล้ว
“ตอนนี้ SCEB จะไปสู่งานวิ่งบางแสน 21กลางเดือนธันวาคมนี้ เพื่อถอดบทเรียนบางอย่างเอามาเพื่อนำเสนอในการประชุมวางแผนจัดงานวิ่ง หาดใหญ่ 21 ครั้งที่ 2 ในปีหน้า”และอีกกลุ่มงานที่เดินมาหลายครั้งโดยการทำเวิร์คช็อปผ่านความร่วมมือหลากหลายส่วนคือ งานอเวคเคนนิ่ง (Awakening:ฟื้นคืนชีวิตและเศรษฐกิจชุมชนด้วยสีสันและแสงไฟ) ที่ร่วมกับเจ้าของอเวคเคนนิ่ง ที่จัดงานนี้ประสบความสำเร็จมาก ทั้งกรุงเทพ เชียงใหม่ และขอนแก่น
“เจ้าของงานเห็นความตั้งใจของเมืองก็เลยมาช่วยสร้างสรรค์ อเวคเคนนิ่ง ในแบบฉบับของสงขลา โดยงานนี้จะไปอยู่ที่สงขลาเมืองเก่า เป้าหมายคือ การกระตุ้นตัวเศรษฐกิจกลางคืน เพระว่าเมืองเก่าสงขลาประสบความสำเร็จด้านการท่องเที่ยวภาคกลางวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ มีหน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปช่วย”
ในขณะที่เมื่อพระอาทิตย์ตกดินนักท่องเที่ยวขยับออกจากพื้นที่ เดินทางกลับหาดใหญ่ ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่เลย อันนี้คือปัญหาของเทศบาลนครสงขลาที่พยายามให้ทาง SCEB เข้าไปศึกษาและทำเวิร์คช็อป (สัมมนาเชิงปฏิบัติการ)
“จะมีการประชุมเรื่องงานนี้อีกครั้งในสัปดาห์หน้า หลังจากนั้นก็จะประกาศในช่วงของวัน เวลา การจัดอีกครั้งหนึ่ง แต่คร่าว ๆ ที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาให้โจทย์ไว้คือ อยากให้ลงในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์และก่อนหน้าฝน ก็น่าจะเป็นช่วงสัปดาห์ปลายๆ เมษายนหรือต้นเดือนพฤษภาคม 2567”
งานนี้เป้าประสงค์คือ เสร็จงานผู้คนในเมืองเก่าสงขลา ต้องสามารถลุกขึ้นทำกิจกรรมเศรษฐกิจยามค่ำคืน เป็นการทำงานให้ตอบโจทย์กับกลุ่ม เจนวาย เจนแซด ที่เวลาในช่วงเย็น ๆ เขามักจะชอบเดินเล่น
หาอาหารทาน หาขนมทาน เครื่องดื่ม มีที่สถานที่ ใช้เวลาว่างกับเพื่อน ๆ พูด คุย สังสรรค์ ถ่ายรูป
“อันนี้คือโจทย์สำคัญที่จะช่วยทำให้พื้นที่เมืองเก่าสงขลาคึกคักขึ้น ที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลาย ๆ รายพยายามเปิดร้านในช่วงเย็น ช่วงค่ำ ๆ หลายๆ ร้าน ก็พยายามคุยให้ฟัง ก็ไม่ประสบความสำเร็จ”
ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ว่ากิจกรรมที่มีไม่ได้ไปขยับในจุดนี้ ดังนั้น งาน อเวคเคนนิ่ง ที่ประสบความสำเร็จทั้งกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น แต่ทั้ง 3 เมือง มีปัญหามีจุดอ่อนที่ไม่เหมือนกับสงขลาเมืองเก่า ยกตัวอย่าง กรุงเทพฯใช้แก้ปัญหายาเสพติด โดยการเอางานไปใส่ ก็ทำให้คนมีอาชีพมีรายได้
เมื่อพื้นที่มีสีสัน มีไฟ ทำให้คนเดินเข้าไป ก็เกิดการพัฒนา จากเมืองร้างที่มีปัญหายาเสพติด ก็ดีขึ้น แต่โจทย์ของเมืองสงขลา ไม่เหมือนกับอีก 3 เมืองที่เขาจัดมา แต่เราเป็นพื้นที่ ๆ พอตกช่วงค่ำคนหาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงกลางวัน สามารถขยับมาในช่วงกลางคืน ช่วง 1 ทุ่ม 2 ทุ่ม 3 ทุ่ม
“เราคงไม่ค่ำมาก เพราะว่าด้วยความเป็นเมืองเก่าสงขลา ที่คนในพื้นที่เห็นด้วยว่าในช่วงประมาณ 18.00 ถึง 20.00 น.น่าจะเป็นช่วงเวลาที่เขาน่าจะได้ขายความเป็นเมือง มีแสงสี มีวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต อันนี้เป็นกลุ่มก้อนที่ 2 เรื่องเฟสติวัล”
ซึ่งตอนนี้เรามีเรื่องเฟสติวัลอยู่ 5-6 งานที่มีการทำเวิร์คช็อปเอาไว้ แต่เราจะค่อย ๆ ขยับทีละงาน เพื่อ ให้มั่นใจว่ามันเกิดความยั่งยืน และพื้นที่ได้มีส่วนร่วมและได้ให้การยอมรับ เพราะว่าสิ่งที่ทาง SCEB เน้นย้ำ ตามที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดที่ผ่านมาและท่านผู้ว่าฯสมนึก พรหมเขียว ก็ดี ท่านจะให้ความสำคัญเรื่องการมีส่วนร่วม และทุกคนเป็นเจ้าของ
ดังนั้น การขยับงานที่มีความยั่งยืน แล้วก็ไปแบบจัดขึ้นในระยะเวลากระชั้นชิดแล้วหายไปหลังจากเสร็จงาน ซึ่งไม่ยั่งยืน แต่อาจจะช่วยได้ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ในการดึงคนและการใช้จ่ายให้เข้ามา
แต่ในระยะยาวคนในพื้นที่ก็จะไปไม่ถูกพองานหายไป ดังนั้น กลุ่มงานที่เป็นเฟสติวัลต่างๆ ที่อยู่ในแผนการดำเนินงาน อย่างเช่น งาน อเวคเคนนิ่ง ที่กำลัง
จะจัดในปีหน้า หรือแม้กระทั่ง “คอนเสิร์ตสีขาว” จากญี่ปุ่น เป็นคอนเสิร์ตครอบครัว ไม่มีแอลกอฮอล์ ไม่มียาเสพติด ซึ่งทำเวิร์คช็อปกับเทศบาลนครหาดใหญ่ไปแล้ว 1 ครั้ง ซึ่งก็ยังมีงานอีกหลายๆ งาน แต่อาจจะ
ต้องค่อย ๆ ขยับ เนื่องจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความสำคัญมากกับเรื่องการมีส่วนร่วม
“อะไรที่รวดเร็วมันไม่ยั่งยืน แต่ถ้าเราค่อย ๆ ขยับ แล้วเกิดการเชื่อมโยง คนเข้าใจ และคนให้ความร่วมมือ แล้วก็มีส่วนร่วม ก็จะทำให้ยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น
กิจกรรมเหล่านี้ จะช่วยดึงกลุ่มนักเดินทางไมซ์จากภูมิภาคเหมือนกับงานวิ่งหาดใหญ่ 21 ที่ทำสำเร็จ”
เนื่องจากมีนักวิ่งจากต่างภูมิภาคมาจากภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง เข้าร่วมร้อยละไม่ต่ำกว่า 70 ของงาน เป็นคนมาจากต่างพื้นที่ มีคนในพื้นที่จริง ๆ ไม่ถึง 35 เปอร์เซ็นต์ แต่เราไม่ได้บอกว่าไม่ให้คนหาดใหญ่ คนในพื้นที่เข้าร่วมวิ่ง แต่เรากำลังบอกว่างานวิ่งในหาดใหญ่-สงขลาสำเร็จมากแล้วเรายังขาดงานที่ดึงคนภายนอกเข้ามาใช้จ่ายและพำพักในพื้นที่ได้นานยิ่งขึ้น ทำให้เศรษฐกิจยั่งยืน
ฉะนั้น กลไกของงาน อเวคเคนนิ่ง ก็เหมือนกัน จะดึงคนจากต่างภูมิภาคและต่างประเทศ ซึ่งจะใช้ความร่วมมือกับสมาคมต่าง ๆ ดึงทัวร์ต่างประเทศเข้ามา “ทั้งหมดคือ การพัฒนาและดึงธุรกิจจากข้างนอกเข้ามาสู่เมือง ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เวลาจัดจะช่วยดึงงานประชุมสัมมนา งานแสดงสินค้าที่เขาเห็นเป็นโอกาสที่เขาจะขยับตารางการจัดงานมาอยู่ในช่วงเดียวกัน อย่างน้อยคนมาประชุมสัมมนาจะได้มีทางเลือกเพิ่มว่า ตอนเย็น ๆ ค่ำ ๆ ก็ไปหาประสบการณ์จากงานนี้ได้ เขาก็สามารถขายงานได้ง่ายขึ้น งานแสดงสินค้าก็เหมือนกันคนก็ไม่ได้มาเดินแห้ง ๆ” อย่างน้อยเขาอาจจะมีการพักเพิ่มอีกประมาณ 1-2 คืน เพื่อที่จะได้เข้าร่วมกิจกรรมของเมืองด้วย อันนี้ คือสิ่งที่ SCEB กำลังดำเนินการเพื่อเชื่อมต่อกับกลุ่มงานต่าง ๆ รวมถึงการขับเคลื่อนเมืองไมซ์ที่ยั่งยืนของโลกที่มีการขับเคลื่อนต่อไปเพื่อขยับอันดับที่ดีขึ้น
“การขยับอันดับอย่างน้อยเราจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ในปี 2568 การที่เรามีรางวัล อะไรเพิ่มเติมระดับมารับรอง จะทำให้คนตัดสินใจมาที่เมืองเราได้ง่ายขึ้น และมั่นใจและเชื่อใจว่าทั่วโลกที่เป็นเมืองระดับโลกด้านไมซ์ โดยเฉพาะฝั่งยุโรปเขา ยอมรับ จัดอันดับให้เรา และจะมาทำกิจกรรมด้านไมซ์ที่เมืองของเราผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่เราขยับ”
นอกจากนี้ เราจะมีโรดโชว์ในต่างประเทศ (นำสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ไปนำเสนอ) โดยท่านผู้ว่าฯ สงขลา ได้ให้เตรียมข้อมูล และรายละเอียดในที่จะเอาไมซ์ซิตี้สงขลา ไปออกงานโรดโชว์ คืองาน IMEX Frangfurt 2024 แสดงสินค้าด้านไมซ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต เยอรมนี 14-16 พฤษภาคม 2567
“เราจะไปเชื่อมกับชุมชนท้องถิ่นให้เพิ่มมากขึ้น สิ่งสำคัญคือเราต้องเข้าไปช่วยชุมชน ท้องถิ่น เพื่อให้เขาได้มีมาตรฐาน ได้รับการยอมรับเช่นเดียวกัน เพราะว่าขณะนี้ตัวมาตรฐานต่าง ๆ ของชุมชน ท้องถิ่นในจังหวัดสงขลาของเรา เช่น แหล่งท่องเที่ยวยังมีน้อย เราคงไปช่วยทำควบคู่ไปกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในการเข้ายกระดับชุมชุน ท้องถิ่นให่สามารถเติบโตควบคู่ไปกับกิจกรรมไมซ์ของเมืองได้อย่างยั่งยืนเช่นเดียวกัน” ดร.ทรงสิน กล่าว