Home » ข่าว » รองผู้ว่าฯสงขลาตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาชาวระโนดเดือดร้อนเขื่อนกั้นคลื่น

รองผู้ว่าฯสงขลาตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาชาวระโนดเดือดร้อนเขื่อนกั้นคลื่น

หนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส ปีที่ 26 ฉบับที่ 1,317 วันที่ 8 – 14 มกราคม 2567
รองผู้ว่าฯ สงขลา ตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาทันทีที่ชาวระโนดที่ได้รับผลกระทบจาก “โครงการกำแพงกันคลื่นท่าบอน” ของกรมเจ้าท่า ได้รับความเดือดร้อนอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงมรสุม เดินทางมาร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมฯ

3 มกราคม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากกำแพงการคลื่นหาดท่าบอน อ.ระโนด จ.สงขลา เดินทางมายังศาลากลางจังหวัดสงขลา เข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ผ่านศูนย์ดำรงธรรมฯ เรียกร้องให้เร่งรัดแก้ปัญหาผลกระทบจากโครงการกำแพงกันคลื่นหาดท่าบอน อำเภอระโนด ของกรมเจ้าท่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่มีบ้านเรือนและที่ทำกินริมหาดท่าบอนในช่วงระยะเวลา 3 ปีนับตั้งแต่ กรมเจ้าท่าได้ก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดท่าบอนระยะทางยาว 5 กิโลเมตรแล้วเสร็จ


โดยนอกจากจะไม่ได้แก้ปัญหาคลื่นซัดเข้าชายฝั่งแล้ว ยังทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงมากขึ้น โดยมีคลื่นปะทะกำแพงและกัดกินเข้ามาในบ้านเรือน สวนมะพร้าวของประชาชนตลอดแนวชายหาด 5 กิโลเมตร ที่มีกำแพงกันคลื่น
ส่งผลให้มีชาวบ้านที่อยู่ริมชายหาดท่าบอน ได้รับผลกระทบมากกว่า 100 หลังคาเรือน ทั้งบ้านพังเสียหาย สวนมะพร้าวล้มตาย โดยเรียกร้องให้หาแนวทางแก้ปัญหาในระยะสั้น ด้วยการหาแนวทางป้องกันผลกระทบจากคลื่นที่มีกำลังแรงขึ้นเมื่อกระทบกับกำแพงกันคลื่นซัดเข้าเกือบถึงหน้าบ้านเรือนประชาชน โดยเฉพาะในช่วงอีกประมาณ 2 เดือนของฤดูมรสุม และแก้ปัญหาระยะยาวด้วยการฟื้นฟูชายหาดท่าบอนให้กลับคืนมาอีกครั้ง


น.ส.ชนิสรา ชูทอง ผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารในพื้นที่ หมู่ 3 ต.ท่าบอน กล่าวว่า ร้านของตน ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากเดิมบริเวณนี้จะมีชายหาดยื่นลงไปในทะเลที่เป็นธรรมชาติและสวยงาม แต่เมื่อกำแพงกันคลื่นสร้างแล้วเสร็จเมื่อประมาณ 3 ปีก่อนก็มีผลกระทบอย่างรุนแรง ทำให้ไม่มีชายหาดเพราะคลื่นกระโจนมารุนแรง จนเกือบถึงร้าน สภาพแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งตนก็แก้ปัญหาด้วยการลงทุนจัดหาจัดซื้อกระสอบทรายมาป้องกันเอง แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก

ในช่วงมรสุมก็ต้องหยุดกิจการชั่วคราว เพราะผลกระทบ คลื่นซัดเข้ามารุนแรง และลูกค้าก็ไม่ได้อยากจะเข้ามา เพราะไม่มีชายหาดเหมือนก่อนหน้านี้ “บ้านชาวบ้าน สวนมะพร้าว ต่างก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก คลื่นมาจ่อถึงหน้าบ้านแล้ว ทำให้เกิดความเครียด จึงต้องเดินทางมาร้องขอความช่วยเหลือที่ศาลากลางจังหวัด” น.ส.ชนิสรา กล่าว
เช่นเดียวกับ นางฉลวย หนูเขียว ผู้ได้รับผลกระทบ อีกคนที่กล่าวว่า ตนกังวลว่าบ้านจะไหลไปกับแรงคลื่น ทำให้นอนไม่หลับ และเป็นผลกระทบที่เกิดต่อเนื่องมานาน แม้ว่าก่อนหน้าการทำโครงการจะมีการสอบถามความเห็น ซึ่งเราก็ไม่ได้เห็นด้วย แต่เพราะมีการนำโครงการมาให้ดู มีแต่ผลทางดี แต่ผลกระทบไม่ได้พูดถึง ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จก็เกิดผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง


“อยากให้ทางจังหวัดเร่งหาทางในการป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนให้อย่างเร่งด่วน” นางฉลวย กล่าว
ต่อมา นายมาหะมะพีสกรี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้เรียกหน่วยเกี่ยวข้องได้แก่ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาสงขลา สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 สงขลา และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา เข้าหารือในประเด็นการป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นเป็นกรณีเร่งด่วน ก่อนบ้านเรือนจะไหลลงทะเล
เบื้องต้นได้แต่งตั้งคณะทำงานในการแก้ไขปัญหาผลกระทบ ที่มีตัวแทนส่วนราชการและตัวแทน


ผู้ได้รับผลกระทบเป็นคณะทำงาน และได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพปัญหา ความเสียหาย เพื่อกำหนด แนวทางแก้ไขปัญหา
พร้อมกำหนดประชุมร่วมหน่วยเกี่ยวข้องในวันที่ 17 มกราคมนี้ แหล่งข่าวเผยว่า โครงการดังกล่าว ดำเนินการโดยกรมเจ้าท่า ใช้งบประมาณ 130 ล้านบาท ซึ่งทุกขั้นตอนดำเนินการมาจากส่วนกลาง เช่นเดียวกับโครงการเขื่อนกันคลื่นอีกหลายโครงการ ทั้งของกรมเจ้าท่าและกรมโยธาธิการและผังเมืองท่ี่สร้างปัญหาให้ส่วนราชการในพื้นที่และชาวบ้าน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *