หนังสือพิมพ์ภูมิภาค รายสัปดาห์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 1,318 วันที่ 15 – 21 มกราคม 2567
จากทฤษฎีในห้องเรียนสู่การฝึกปฏิบัติ เพิ่มทักษะ สร้างอาชีพ “วิทยาลัยชุมชนสงขลา” นำนักศึกษาให้บริการจิตอาสา ลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติซ่อมคอมพิวเตอร์ให้โรงเรียนในชุมชน
7 ม.ค. 67 วิทยาลัยชุมชนสงขลา นำโดย อาจารย์พิพัฒน์พงษ์ หงษ์สัมฤทธิ์ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนสงขลา อาจารย์หลักสูตรอนุปริญญา สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ นำนักศึกษาสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ลงพื้นที่โรงเรียนบ้านคูนายสังข์ ต.แค อ.จะนะ จ.สงขลา ในกิจกรรมบริการจิตอาสาลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติซ่อมคอมพิวเตอร์ให้โรงเรียนตามชุมชนเพื่อให้พร้อมใช้งาน ตามแนวคิด “วิทยาลัยชุมชน พัฒนาคน พัฒนาท้องถิ่นจากการสอนทฤษฎีในห้องเรียน นำไปสู่การฝึกปฏิบัติ”
อาจารย์พิพัฒน์พงษ์ กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาเรียนของนักศึกษา สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และถือเป็นโครงการแรกที่ได้นำนักศึกษาสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ลงพื้นที่ชุมชน
“การเรียนปกติก็จะเป็นการเรียนรู้ภาคทฤษฎีในห้องเรียน และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ของจริง เราจึงได้ค้นหาโรงเรียนในชุมชนใกล้เคียงเพื่อจะได้ลงไปในพื้นที่ ในวันนี้คณะอาจารย์ รวมทั้งนักศึกษาสาขา คอมพิวเตอร์ฯ จากศูนย์การเรียนศูนย์เทพา 13 คน ได้
ลงมาที่โรงเรียนบ้านคูนายสังข์ เพื่อตรวจสอบการใช้งานของคอมพิวเตอร์ของโรงเรียน และจัดการซ่อมบำรุงในเบื้องต้น โดยนักศึกษาของวิทยาลัยฯ” อาจารย์พิพัฒน์พงษ์ กล่าว และว่า
วิทยาลัยชุมชนฯมีนักศึกษาที่มาจากหลายพื้นที่ หลายชุมชน หลังจากนี้ก็จะได้ให้นักศึกษาได้สอบถามสถานศึกษาหรือโรงเรียนในชุมชนของตนว่า มีที่ใดบ้างที่ต้องการให้เราลงไป ซึ่งนักศึกษาก็จะช่วยดูหรือช่วยซ่อมบำรุงในเบื้องต้นได้ ถือเป็นการให้บริการแก่ชุมชนและนักศึกษาเองก็ได้เรียนรู้ไปด้วย เพราะจากที่เรียนทฤษฎีมาก็จะได้เพิ่มเติมความเข้าใจได้มากกว่าที่จะเรียนแค่ในห้องเรียน ได้เห็นปัญหาจริงๆ มีการวิเคราะห์ปัญหาที่อาจต่างหรือเหมือนกับที่เรียน ก็จะได้องค์ความรู้เพิ่มจากการปฏิบัติ และทางโรงเรียนก็จะได้ประโยชน์ สามารถนำคอมพิวเตอร์ที่ได้รับการซ่อมไปใช้งานการเรียนการสอนได้ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เรามองไว้
สำหรับการลงพื้นที่โรงเรียนบ้านคูนายสังข์ ในรอบแรกนี้เป็นขั้นตอนของการตรวจเช็คคอมพิวเตอร์ก่อนว่ายังใช้งานได้หรือไม่ ให้นักศึกษาวิเคราะห์อาการของคอมพิวเตอร์ แล้วเก็บข้อมูลว่าปัญหาที่เกิดเป็นลักษณะใด ส่วนใดที่ชำรุด
หลังจากนั้น ก็นำข้อมูลกลับไป เพื่อจัดเตรียมอุปกรณ์ โปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ต่างๆ ตามข้อมูลที่นักศึกษาเก็บมาตามลักษณะชำรุดของแต่ละเครื่อง ในวันที่ 23 ม.ค. 66 ทางวิทยาลัย จะนำนักศึกษากลับไปที่โรงเรียนอีกครั้ง เพื่อจัดการซ่อมบำรุง
“เราต้องการให้นักศึกษามีความรู้ทั้งระบบในการซ่อมบำรุง ซึ่งหากนักศึกษาต้องการจบออกไปเป็นผู้ประกอบการ ก็ต้องมีการวิเคราะห์อาการให้ได้ก่อนว่าเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไรบ้าง มาจากสาเหตุใด แล้วค่อยทำตามขั้นตอนที่ได้ศึกษามา ซึ่งบางครั้งอาจไม่เป็นไปตามทฤษฎีก็ได้ ดังนั้น การได้ลงมือทำงานจริงๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญมากในการเรียน”
อาจารย์พิพัฒน์พงษ์ กล่าวด้วยว่า เรามีแนวคิดและต้องการให้ผู้จบการศึกษาจากสถาบันวิทยาลัยชุมชนฯ ต้องเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาชุมชน ซึ่งสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจก็ย่อมจะไม่ใช่แค่งานซ่อม แต่เราพยายามบูรณาการ ซึ่งตอนนี้เรามีแผนในการร่วมกับรายวิชาอื่นๆ เช่น นักศึกษาที่เรียน
ในรายวิชาออกแบบ ที่อาจอยู่ในชุมชนที่มีกลุ่มวิสาหกิจต่างๆ ที่ทำผลิตภัณฑ์อยู่ ก็ต้องไปเก็บข้อมูล
แล้วนำมาบูรณาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้กับชุมชน เป็นต้น โดยเรามีแผนอยู่ว่าทุกอย่างเราจะต้อง
ให้นักศึกษาลงไปช่วยในชุมชน ซึ่งในการนี้เราเองก็จะเปิดศูนย์ภายในวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษาได้ช่วยซ่อมคอมพิวเตอร์ของเพื่อนนักศึกษาในเบื้องต้นก่อนเป็นการเริ่มต้น