วิทยาลัยชุมชนสงขลา เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาครูปฐมวัยในเครือข่ายโดยร่วมพัฒนาทักษะทางภาษาของเด็กปฐมวัยด้วยชุดสื่อนิทาน
วันที่ 27-28 มกราคม 2567 วิทยาลัยชุมชนสงขลา นำโดยอาจารย์ปาริชาต ชูสุวรรณ ครูวิทยาลัยชุมชนสงขลา และคณะทีมงานผู้รับผิดชอบโครงการ การจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาทักษะการฟังและพูดของเด็กปฐมวัย ด้วยสื่อชุดนิทานและคำศัพท์พื้นฐาน ประจำปีงบประมาณ 2567
นางสาวศุภมาส อยู่อริยะ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนสงขลา เห็นความสำคัญในการพัฒนาครูปฐมวัยในพื้นที่ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดโครงการดังกล่าว และร่วมพูดคุยการดำเนินโครงการของเครือข่ายครูปฐมวัยวิทยาลัยชุมชนสงขลา โดยมีวิทยากร ผศ.นัยนา ยีหมะ อาจารย์ประจำหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย และผศ.รุ่งรังสิมา สัตยาไชย อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาจิตวิทยาและการแนะแนว มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
ดำเนินการจัดกิจกรรมเตรียมความพร้อมการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาทักษะการฟังและพูดของเด็กปฐมวัย โดยแต่ละกิจกรรมเป็นลักษณะการอบรมเชิงปฏิบัติการ ในเรื่องการสร้างแรงบันดาลใจ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในการใช้จิตวิทยาในการดูแลเด็กปฐมวัย และเรื่องการจัดประสบการณ์ทักษะทางภาษาแบบองค์รวมให้กับครูปฐมวัยในเครือข่าย จำนวน 17 โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา และนักศึกษาสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย
ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพครูปฐมวัย นักศึกษาสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในการใช้จิตวิทยาในการดูแลเด็กปฐมวัยและมีองค์ความรู้ในการจัดประสบการณ์การพัฒนาทักษะการฟังและพูดของเด็กปฐมวัย ด้วยสื่อชุดนิทานและคำศัพท์พื้นฐานสำหรับเด็กปฐมวัย
โดยกิจกรรมครั้งนี้ ได้นำกระบวนการเพื่อที่จะสร้างแรงบันดาลใจและการใช้จิตวิทยาในการดูแลเด็ก การรู้จักการสร้างแรงบันดาลใจของตนเอง การเข้าใจและยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยใช้กิจกรรมกระบวนการรู้จักการสร้างแรงบันดาลใจของตนเอง และกิจกรรมกระบวนการเข้าใจและยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวทำให้ครูปฐมวัยและนักศึกษาที่เข้าร่วม ได้ฝึกปฏิบัติในกระบวนการสร้างแรงบันดาลใจให้กับตนเองและนำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้สู่ห้องเรียนให้กับเด็กปฐมวัย และในส่วนของทักษะทางภาษาครูปฐมวัยได้เรียนรู้แนวทางในการจัดประสบการณ์ทักษะทางภาษาแบบองค์รวมโดยเน้นความรู้ความเข้าใจ พัฒนาการทางภาษาสำหรับเด็กปฐมวัย ความรู้ความเข้าใจการจัดประสบการณ์ทางภาษาสำหรับเด็กปฐมวัย การจัดประสบการณ์ทางภาษาผ่านกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ กิจกรรมคำถามสร้างสรรค์ การจัดประสบการณ์ทางภาษาผ่านนิทาน การจัดประสบการณ์ทางภาษาผ่านการทำผังกราฟฟิก
ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว ครูปฐมวัยได้ฝึกปฏิบัติในครั้งนี้จะเป็นแนวทางให้ครูปฐมวัยได้นำไปพัฒนาตนเองและนำไปพัฒนาต่อยอดในการจัดประสบการณ์ในห้องเรียนด้านพัฒนาการด้านภาษา (language Development) ต่อไป