Home » ข่าว » “เมือง(ไม่)รู้ร้อนรู้หนาว ภาคใต้ฯ” กระตุ้นทุกภาคส่วนร่วมจัดการ เมือง-สภาวอากาศ

“เมือง(ไม่)รู้ร้อนรู้หนาว ภาคใต้ฯ” กระตุ้นทุกภาคส่วนร่วมจัดการ เมือง-สภาวอากาศ

การประชุม “เมือง(ไม่)รู้ร้อนรู้หนาว ภาคใต้ฯ” ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม เอกชน หน่วยงานภาครัฐ ผนึกกำลังหาแนวทางรับมือความเปลี่ยนแปลง เมือง-อากาศ ชี้นโยบายจากส่วนกลางสาเหตุหลัก ต้องให้สิทธิคนเปราะบาง-ชุมชนเมือง ร่วมจัดการอย่างเท่าเทียม
28-29 มีนาคม 2567 สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมกับ มูลนิธิชุมชนสงขลา (SCF) ศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขต 12 และมูลนิธิเครือข่ายเมืองภาคใต้เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (SCCCRN) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “เมือง(ไม่)รู้ร้อนรู้หนาว ภาคใต้ เพื่อเตรียมความพร้อมของชุมชนเมืองต่อภาวะโลกเดือด” ณ โรงแรมเบญจพร แกรนด์ วิว จังหวัดสงขลา

ดร. ผกามาศ ถิ่นพังงา ผู้อำนวยการโครงการ Success กล่าวว่า การประชุมพูดคุยไม่ใช่แค่ปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change) แต่เป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากหลายๆ พื้นที่ ในประเด็นสำคัญเร่งด่วนคือ เมืองกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ


“โครงการ Success เป็นโครงการใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป หรือ EU (European Union) จัดทำโครงการ โดยพื้นที่ในภาคใต้คือ จ.สงขลา จ.พัทลุง และ จ.สตูล ส่วนภาคอีสานที่ จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี และ จ.หนองคาย เนื่องจาก EU เน้นความสำคัญภาคประชาสังคมมีบทบาทขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง จึงจัดทำโครงการเพื่อเสริมบทบาทภาคประชาสังคมในการเปลี่ยนแปลงพัฒนาเมือง เตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยเชื่อมโยงการทำงานไปพร้อมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้ง ภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ฯลฯ ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 5 ของโครงการฯ” ดร. ผกามาศ กล่าวและว่า
การพัฒนาเมืองเป็นเรื่องของทุกคนต้องมีส่วนร่วม การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศก็ส่งผลกับทุกคน ดังนั้นการพัฒนาเมืองต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่กำลังเกิดขึ้นแล้ว ในขณะที่เมืองก็มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จากอดีต ปัจจุบัน และมองไปสู่อนาคตเพื่อชุมชนจะได้ปรับเปลี่ยนแนวความคิด ให้อยู่รอดได้จากผลกระทบที่เกิดขึ้น หรือหากมีแผนพัฒนาเมืองจากหน่วยงานภาครัฐ ชุมชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมได้โดยการสร้างกลไกขึ้นมา เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและร่วมรับประโยชน์จากการพัฒนาไปพร้อมกัน


ดร.ผกามาศ กล่าวอีกว่า โครงการพยายามผลักดันเรื่องของ เมือง สิทธิชุมชน การเข้าถึงทรัพยากร เช่นโครงสร้างพื้นฐานอย่างเท่าเทียมเป็นธรรม การออกกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ แผนนโยบายจากส่วนกลาง เราเห็นความเป็นมาของเมืองตั้งแต่อดีต สู่ปัจจุบัน และคาดการณ์อนาคตว่าจะเป็นอย่างไ รเช่น การขับเคลื่อนเรื่องของอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของเมือง ชุมชน และย่อมส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งนิยามความเป็นเมืองเองก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน

นายชาคริต โภชะเรือง กรรมการผู้จัดการมูลนิธิชุมชนสงขลากล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการร่วมพูดคุย โดยมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เช่น สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สงขลา ศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 สำนักงานพมจ.สงขลา ตัวแทนองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 16 ฯลฯ และตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมและชุมชนจาก 3 จังหวัด ซึ่งทุกคนล้วนได้รับผลกระทบและนำสู่การพูดคุย เชื่อมโยงกันและเข้าใจเรื่องนี้ร่วมกัน เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยใช้ความรู้จากการปฏิบัติ จากประสบการณ์ตรง และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเชิงนโยบาย มาแลกเปลี่ยนกัน นำไปสู่การปรับระบบการทำงานและวิธีปฏิบัติในการทำงานร่วมกัน บนพื้นฐานเพื่อประโยชน์ของสังคม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *