Home » ข่าว » ‘ซิงกอรา’เมืองแห่งป้อมปราการ!

‘ซิงกอรา’เมืองแห่งป้อมปราการ!

ร่องรอยอารยธรรมดัน​สู่มรดกโลกสงขลา หรือที่รู้จักในชื่อ “ซิงกอรา”​ เมืองแห่งป้อมปราการ”​ มีป้อมป้องกันข้าศึก มากถึง 18 ป้อม อายุกว่า 300 ปี ร่องรอยแห่งอารยธรรมผลักดัน​สู่มรดกโลก

ซิงกอรา (SINGORA) หรือเมืองสิงห์ เมืองซิงกู เมืองสิงหนคร เมืองสิง หะ นะ คะ ระ หรือซุนกูหน่า (เรียกในภาษาจีนที่แปลว่า สงขลา) หรือที่เขียนอยู่บนปืนใหญ่ของสุลต่าน ที่เรียกบ้านเกิดแผ่นดินเกิดของตัวเองว่า “ซิงฆูรา”​ ความหมายว่า ซิงฆูราคือ บ้านเกิดของฉัน

ซิงฆูรา คือ ชื่อเรียกสงขลาในภาษามลายู หรือสงขลาเขาแดง หรือสงขลาในปัจจุบัน ล้วนเป็นชื่อของเมือง ”สงขลา” ที่เรียกขานผ่านกาลเวลาจากอดีตถึงปัจจุบันทั้งสิ้น

สงขลา เป็นเมืองท่าค้าขายของสยามประเทศที่อยู่บนฝั่งตะวันออกของแหลมมลายู ที่ครั้งหนึ่งสยามประเทศได้ยกเมืองนี้ให้กับประเทศฝรั่งเศส ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นเมืองที่ได้รับการขนานนามจากพ่อค้านักเดินเรือว่า “เมืองแห่งป้อมปราการ”​ เพราะมีป้อมป้องกันข้าศึก ป้องกันเมืองเรียงรายอยู่เต็มบริเวณพื้นที่ของเมืองมากถึง 18 ป้อม


ตามที่ปรากฏในแผ่นที่โบราณที่วิศวกรชาวฝรั่งเศสชื่อ มองซิเออร์ เดอ ลามา ที่เป็นผู้ออกแบบป้อมกำแพงเมืองสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่ได้เดินทางมายังเมืองสงขลา และทำแผนที่เมืองสงขลาไว้เมื่อประมาณ 300 ปี หรือประมาณปี พ.ศ. 2230 ที่ทำให้เราได้เห็นภาพของจุดที่ตั้งของป้อมปืนทั้ง 18 ป้อม ของเมืองสงขลาแห่งนี้

จากการศึกษาสืบค้นเรื่องราวของความเป็นมาของเมืองแห่งนี้ พอสรุปได้ว่าเมืองแห่งนี้เกิดขึ้นราวปี พ.ศ. 2145-2155 ประมาณของช่วงเวลานั้น โดยมีผู้นำมุสลิมที่มีชื่อว่า “ดาโต๊ะโมกอล”​ หรือโมกุล ที่เดินทางอพยพมาจากชวา และได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้าเอกาทศรศ หรือพระศรีสรรเพชรที่ 3 พระมหากษัตริย์ ลำดับที่ 19 แห่งกรุงศรีอยุธยา พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา แต่งตั้งดาโต๊ะโมกอลให้เป็นเจ้าเมืองต่อมา ได้เจริญรุ่งเรืองเป็นเมืองท่าสำคัญที่ผลิตเงินสกุลของเมืองขึ้นมาใช้เองคือ เงินสกุล ซิงกอรา เป็นเมืองท่าที่ปลอดภาษี สมัยเจ้าเมืองคนที่ 2

คือ สุลต่านสุลัยมาน ถือเป็นเมืองท่าสำคัญในการค้าขายในฝั่งตะวันออกของแหลมมลายู ดังบันทึกของ ซามูเอล พอทท์ส ชาวฮอลันดา ซึ่งเดินทางมาสำรวจเมืองสงขลา สำรวจตลาดที่จะเปิดการค้าขาย เมื่อปี พ.ศ. 2221 ได้บันทึกไว้ว่า เจ้าเมืองได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดีที่วังของตน และแสดงความเป็นกันเองมาก มีข้อเสนอจูงใจหลายอย่าง เช่น จะไม่เก็บ

ภาษี จะหาบ้าน และที่อยู่ให้จากป้อมของเมืองนี้ในอดีตที่มีถึง 18 ป้อม จวบจนมาถึงปัจจุบันยังมีป้อมเหลือให้ได้เห็นอยู่ถึง 14 ป้อม ที่มากพอที่จะทำให้โลกใบนี้ได้หันมามอง มาดูร่องรอยแห่งอารยธรรมของความเจริญรุ่งเรือง ที่ถือเป็นเรื่องราวสำคัญที่จะทำให้เมืองสงขลา และประเทศไทยได้มีแหล่งมรดกโลกให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวบนเส้นทางเมืองมรดกโลก อันจะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองทางภาคใต้ของประเทศไทยกันต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *