นายกอบจ.สตูล ขอบคุณ “บิ๊กป้อม” รองนายกรัฐมนตรีและประธานกพต.ที่มีมติจัดตั้งมหาวิทยาลัยสตูล-ยกระดับและพัฒนาเกาะอาดังให้เป็นจุดหมายการท่องเที่ยวด้านธรรมชาติระดับโลก
นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล กล่าวว่า ในนามของชาวจังหวัดสตูลกราบขอขอบพระคุณพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นชอบในหลักการโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยสตูล
“จังหวัดสตูลมีต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูง เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็งและสงบร่มเย็น เป็นเกทเวย์ที่เชื่อมดินแดนไทยกับมาเลเซีย เป็นตำแหน่งที่เป็นศูนย์กลางของระเบียงเศรษฐกิจ ไอเอ็มทีจีที” นายสัมฤทธิ์ กล่าว และว่า
โครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยสตูล เป็นความตั้งใจจริงของชาวสตูลทุกภาคส่วนที่ต้องการยกระดับการศึกษาให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 เพิ่มโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประชาชนในพื้นที่จังหวัดสตูล การจัดตั้งมหาวิทยาลัยสตูลจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการพัฒนากำลังคน รองรับการพัฒนาด้านต่าง ๆ
ทั้งยังจะเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงพื้นที่ภาคใต้ชายแดนและพื้นที่ฝั่งอันดามันตอนล่าง รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วย โครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยสตูลจะใช้แนวทางการควบรวมสถาบันการศึกษาในพื้นที่ทั้งหมด 5 สถาบัน
โดยจะใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดและออกแบบการเรียนการสอนเป็นแบบเครดิตแบงก์เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อรองรับการพัฒนาจังหวัดสตูลและภาคใต้ในระยะต่อไป
“กระผมขอขอบพระคุณท่านจากใจจริงของคนสตูลและขออำนาจบารมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้โปรดอภิบาลให้ท่านมีความสุขกายสบายใจ และชาวสตูลจะขับเคลื่อนโครงการการจัดตั้งมหาวิทยาลัยให้เป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป”
นายเจตกร หวันสู ประธานสภาการท่องเที่ยวองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล กล่าวว่า ภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวมีประเด็นที่อยากจะหนุนเสริมเพื่อให้ภารกิจของท่านรองนายกรัฐมนตรีในวันนี้ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นด้วย โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวข้ามแดน เนื่องจากจังหวัดสตูลเรามีพื้นที่ที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซียทั้งทางบกและทางน้ำ
“อยากใช้มีการปรับปรุงและพัฒนาเพิ่มเติมและการเพิ่มมาตรฐานในการให้บริการตรงบริเวณด่านชายแดนเพื่อให้มีความเหมาะสมมากขึ้นกว่าเดิมในโอกาสต่อไป” นายเจตกร กล่าว และว่า
ประเด็นต่อมา ที่อยากจะขออนุญาตคือ เรื่องการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยง สืบเนื่องจากถ้าในโครงการการยกระดับให้เกาะลังกาวีเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในอนาคต ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวเชิงมูลค่าสูง ความจำเป็นอย่างหนึ่งก็คือการเชื่อมโยงระหว่างการท่องเที่ยวในเชิงมูลค่าสูงกับการท่องเที่ยวในบริเวณชุมชน
เพราะฉะนั้น การพิจารณาในเรื่องการให้มีจุดจอดเรือสำราญในอนาคตเป็นสาระที่สำคัญและก็เป็นประโยชน์ต่อการเชื่อมโยงเพื่อเป็นการกระจายตัวสู่การท่องเที่ยวมาบริเวณชายฝั่ง ซึ่ง ณ ปัจจุบันจังหวัดสตูลเป็นจังหวัดแรกและจังหวัดเดียวในประเทศไทย ณ ปัจจุบันที่ได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโกให้สตูลเป็นอุทยานธรณีโลก ”สตูลจีโอพาร์ค”
กรณีนี้เป็นประเด็นที่ประชาชนคาดหวังว่า เมื่อมีการท่องเที่ยวในเชิงมูลค่าสูงแล้วจะสามารถเชื่อมโยงความเป็นอยู่ดีกินดีให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างไร เพราะฉะนั้นการกำหนดให้มีจุดจอดเรือ และเบื้องต้นทราบว่ามีการศึกษาไว้บริเวณหนึ่งก็คือร่องเกาะอาดัง สองก็คือบริเวณหลังตะรุเตา
“ผมค่อนข้างมั่นใจว่าทั้งสองจุดมีประโยชน์และควรที่จะมีการพัฒนาในคราวเดียวพร้อมกันก็อยากจะขอฝากท่านรองนายกฯด้วย”
นายเจตกร กล่าวต่อว่า ประเด็นต่อมาคือ บริเวณท่าเทียบเรือปากบารา ซึ่งปกติแล้วในเส้นทางการเดินเรือในบริเวณช่องแคบมะละกาที่ผ่านมาส่วนใหญ่ ระยะทางสั้นเองก็จะเริ่มต้นจากปีนังเข้ามายังลังกาวีแล้วเลยไปจนถึงภูเก็ตเพราะว่าของเราไม่มีจุดจอดเรือ การที่จะนำเรือผ่านระบบการจอดเรือก็เป็นสาระสำคัญที่เป็นปัญหา
ดังนั้น เมื่อมีการพัฒนาอย่างดีในอนาคต เข้าใจว่าท่าเทียบเรือปากบาราต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือต้องมีการปรับปรุงเพราะว่าการท่องเที่ยวในเชิงการท่องเที่ยวข้ามแดนก็จะมีกลุ่มท่องเที่ยวกลุ่มไฮเอนด์ (ตลาดบน) ที่มีศักยภาพและมีความสามารถมาก ฉะนั้นโครงสร้างพื้นฐานตรงบริเวณท่าเทียบเรือปากบาราต้องมีการปรับปรุงอย่างมโหฬาร
“การยกระดับมหาลัยราชภัฏสงขลาเป็นมหาลัยลัยสตูล อันนี้ถือว่าเป็นคุณูปการต่อชาวจังหวัดสตูลต้องขอขอบพระคุณในนามของประชาชนพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดสตูลเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเราทำให้เป็นสตูลเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ”
สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ สถานพยาบาลบนเกาะหลีเป๊ะ ในขั้นปฐมภูมิ ณ ปัจจุบันได้รับงบประมาณจากเป็น ครม. สัญจรในรอบที่ผ่านมาที่จังหวัดกระบี่ ก็จะมีงบประมาณส่วนหนึ่งที่มีการก่อสร้างเพิ่มเติมตรงบริเวณเกาะหลีเป๊ะอยู่ที่ประมาณ 80 กว่าล้านบาท
“สิ่งที่ผมอยากจะเพิ่มเติมก็คือว่าลักษณะของการช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มีกรณีเสียชีวิตจะเป็นขอเรียกว่าเป็นฮีทสโตรกกันเยอะ เพราะว่าเครื่องมือที่เรามีอยู่มันอาจจะไม่เพียงพอหรือไม่พร้อม สำหรับการแก้ไขหรือช่วยเหลือฉุกเฉินเบื้องต้น”
ในขณะเดียวกัน ณ ปัจจุบันรูปแบบในการส่งตัวผู้ป่วยฉุกเฉินดีขึ้นมาก ตั้งแต่ตั้งแต่เรามีการบูรณาการร่วมกัน จึงก็อยากจะฝากว่าในการยกระดับในเรื่องของสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิที่ตรงบริเวณเกาะหลีเป๊ะจะต้องให้มีความเป็นมาตรฐาน ในระดับสากลได้ จะเอาแบบธรรมดาไม่ได้ต้องยกระดับ
ประเด็นสุดท้าย เป็นความคาดหวังและเป็นความมุ่งหวัง สิ่งหนึ่งที่เราอยากเห็นก็คือ กิจกรรมด้านการท่องเที่ยวที่มีอยู่ในพื้นที่จังหวัดสตูลในอนาคต ที่อาจจะต้องขอแรงจากผู้หลักผู้ใหญ่จะต้องมีการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวในระดับนานาชาติเข้ามาในพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น พร้อมกันนั้นในเรื่องของการประชุมสัมมนาสตูลเราอยู่ใกล้เมืองไมซ์ซิตี้สงขลา แต่โอกาสที่เราจะเชื่อมโยงกันก็อาจจะต้องฝากท่านว่า
“เรื่องไมซ์ซิตี้ที่สงขลาอาจจะต้องมองพื้นที่ของจังหวัดสตูลให้เป็น Area Based ในการที่จะบริหารจัดการเรื่องการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกันได้ในอนาคต เรื่องนี้ก็จะขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง สุดท้ายในการที่เราจะมีโอกาสในการพัฒนาเพื่อให้มันเกิดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น”
มีสองเรื่องที่เราต้องไม่ทิ้ง นั่นก็คือเรื่องของศูนย์กลางการเทียบท่าเรือสำราญและกีฬา อาจจะเป็นเรื่องของในอนาคตเราอาจมีมารีน่าที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดสตูลได้ด้วย
ส่วนประเด็นสุดท้ายคือ เราไม่มีสนามบินจังหวัดสตูล แต่เรามีสนามบินใกล้เคียง 2 สนามบินนั้นก็คือ สนามบินนานาชาติหาดใหญ่และสนามบินตรัง แต่ในการนี้คิดว่าการจัดสรรเวลาการบิน (SLOT) และความเหมาะสมในการบริหารจัดการ คิดว่าถ้าเราต้องการให้มีลักษณะให้บริการเครื่องบินแบบเช่าเหมาลำ หรือจะเป็นสายการบินเช่าเหมาลำในอนาคต
“สนามบินหาดใหญ่ควรจะมีการพัฒนาควบคู่และมองเห็นประโยชน์จากโครงการในการพัฒนาทำให้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เกิดขึ้นตรงบริเวณอาดัง ทำให้สนามบินหาดใหญ่เป็นศูนย์กลางในการเดินทางของอีกกลุ่มของนักท่องเที่ยว ซึ่งเข้าใจว่ามีความต้องการที่จะมาเยี่ยมชมธรรมชาติที่สวยงามและมีความเหมาะสมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติของตะรุเตาของเราและหลายพื้นที่ เพราะเราเป็นเมืองเดียวและเป็นเมืองแรกของประเทศไทยที่เป็นเมืองอุทยานธรณีโลก”
นายเจตกร กล่าวด้วยว่า ขอขอบพระคุณท่านรองนายกฯเป็นอย่างสูงที่นำความเจริญก้าวหน้าด้านการท่องเที่ยวและมิติการสัมพันธ์ในฐานะของภาคเอกชน พวกเราพร้อมที่จะให้การสนับสนุนโครงการสำเร็จลุล่วงและเร่งด่วนด้วยการประสบความสำเร็จด้วยความยินดีขอบพระคุณท่านเป็นอย่างสูง
และเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.)ครั้งที่ 1/2566 และการตรวจติดตามการขับเคลื่อนงานตามมติ กพต. ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล จังหวัดสตูล
ที่ประชุมมีมติ 2 เรื่อง ๆ แรก จัดตั้งมหาวิทยาลัยสตูลให้เกิดในปี 2572 การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เน้นเรื่องการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สังคม เศรษฐกิจ ฯลฯ และเน้นในการมีส่วนร่วมของพื้นที่
โดยในส่วนของจังหวัดสตูล มีข้อเสนอจากท้องถิ่น คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานในพื้นที่มีความประสงค์ที่จะให้มีการยกระดับคุณภาพการศึกษาในจังหวัดสตูลให้สูงขึ้น
ซึ่งปัจจุบันมี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูลเป็นมหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียวในจังหวัดสตูล โดยประสงค์ให้มีการตั้งมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนครอบคลุมทุกสาขาวิชา เพื่อเปิดโอกาส ให้กับเยาวชนในจังหวัดสตูลได้มีโอกาสศึกษาในสถาบันการศึกษาที่มี มาตรฐานเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆจากข้อเสนอดังกล่าว ศอ.บต. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกลางที่มีหน้าที่ในการส่งเสริมการศึกษาตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาประชุมหารือเพื่อพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวและรับฟังข้อคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเห็นควรควบรวมหน่วยงานทางการศึกษาที่มีอยู่ในพื้นที่และมีกรอบแนวคิดที่จะลดต้นทุนเพื่อสร้างมหาวิทยาลัย กําหนดกรอบการดําเนินงาน 3 ประเด็น และกรอบระยะเวลาการดําเนินงาน 7 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566-2572 ดังนี้
1) การเตรียมความพร้อม จนถึงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยสตูล แยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 การศึกษารายละเอียดและเตรียมความพร้อมส่วนที่ 2 การจัดตั้งมหาวิทยาลัยสตูลโดยการหลอมรวมทั้ง 5 สถาบัน
2) เป้าหมายการรับนักศึกษา ระหว่างปีการศึกษา 2568-2572 ทั้ง 6 ด้าน ภายในระยะเวลา 5 ปี มหาวิทยาลัยสตูล จะมีนักศึกษา ใหม่ จํานวน 8,240 คน รวมกับนักศึกษาฐานเดิมที่มีอยู่หลังการหลอมรวมเป็นมหาวิทยาลัยสตูล อีกประมาณ 4,375 คน (ระดับ ปวช.-ปวส.) และ
3) การจัดหาและพัฒนาคณาจารย์และบุคลากร ซึ่งใช้คณาจารย์และบุคลากรจากสถาบันที่หลอมรวมกันจาก 5 สถาบัน เป็นหลักในการจัดการเรียนการสอนและการดําเนินการภารกิจต่างๆ ของมหาวิทยาลัย
สำนักข่าวโฟกัส
สมชาย สามารถ