เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 นางวาสนา บุญช่วย ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 7 บ้านนาป๋อง ต.พะวง อ.เมือง จ.สงขลา นำผู้สื่อข่าว เข้าตรวจสอบที่ดินสวนยางพาราของครอบครัว ในพื้นที่ หมู่ 7 ตำบลพะวง ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก มีร่องรอยทรุดตัว ต้นยางพารา ไม้ผลอื่น ๆ ล้มระเนระนาด และมีสภาพแห้งตาย โดยมีความกว้าง 5-10 เมตร ยาวกว่า 300 เมตร และ ลึก 5-10 เมตร
นางวาสนา บุญช่วย เล่าว่า ที่ดินแปลงนี้ มีเนื้อที่รวมประมาณ 20 ไร่ มีพื้นที่เชื่อมต่อกับบ่อดินของผู้ประกอบการรายหนึ่ง ในระยะแรก ๆ ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ทางผู้ประกอบการได้ทำแนวกันห่างจากแนวที่ดินสวนยางพารา แต่ในช่วงตั้งแต่ปี 2564 การขุดดินไปขายทำให้สภาพบ่อมีความลึกมากขึ้น และขุดเข้ามาจนถึงแนวเขตแดนของที่ดินของตน
“เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นช่วงหน้าฝน พบว่าน้ำในบ่อดินมีระดับสูงขึ้นทำให้เกิดการกัดเซาะใต้ผิวดิน ทำให้ที่ดินสวนยางพาราได้ทรุดตัวเป็นร่องลึก เป็นแนวยาว ตามสภาพที่เห็น” นางวาสนา บุญช่วยกล่าว และว่า
ผลกระทบที่เกิดขึ้น ยังทำให้ที่ดินสวนยางพาราถูกแบ่งออกเป็น 2 ซีก และยังเกรงว่าใต้ผิวดินจะมีความอ่อนตัว ทำให้ไม่สามารถกรีดยางพาราได้ตามปกติ แม้กระทั่งเดินเข้าไปใกล้ เจ้าของที่ดินก็ยังไม่กล้าเดินเข้าไป เกรงว่าดินจะทรุดตัวลงเพิ่มอีก
“พยายามร้องเรียนไปยังหน่วยเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน เทศบาลตำบลพะวง ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเมืองและศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา มาแล้วหลายเดือน แต่ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยบรรเทาความเดือดร้อน”
นางวาสนา กล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องการคือ การเยียวยา สภาพความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือ การหาแนวทางป้องกันการทรุดตัว การพังทลายของที่ดินเพิ่มขึ้น เพราะที่ดินสวนยางนี้เป็นสมบัติมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ต้องการรักษาเอาไว้
“สภาพที่เห็น ทำให้ครอบครัวเศร้าใจอย่างมาก” นางวาสนา กล่าว
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสภาพที่ดิน พบว่า บ่อดินดังกล่าวอยู่ใกล้ถนนสายรองในหมู่บ้าน ซึ่งสามารถมองเห็นบ่อดิน มีลักษณะเป็นน้ำสีฟ้า เนื้อที่ไม่น้อยกว่า 10 ไร่
โดยระหว่างที่ผู้สื่อข่าวเข้าไปตรวจสอบ ไม่พบว่ามีรถบรรทุก หรือมีการดูดดินจากบ่อ มีเพียงสภาพของท่อที่ปากบ่อดิน และจากการตรวจสอบพบว่า บ่อดินแห่งนี้ทำบ่อดินลูกรังมานานแล้ว และมีการเปลี่ยนผู้ประกอบการมาแล้วหลายราย อีกทั้ง ไม่พบรถบรรทุกเข้า-ออก มาระยะหนึ่งแล้ว