วันนี้(9 สิงหาคม 2566) เวลา 14.30 น. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) โดย คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ร่วมกับ สำนักการจัดการนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ดำเนินกิจกรรมรายงานสรุปผลการดำเนินงานและการจัดนิทรรศการ โครงการพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ โครงการพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่ชายแดนใต้ไปสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม บนแนวทางเศรษฐกิจ BCG เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจระดับฐานรากของพื้นที่อย่างยั่งยืนรองรับการพัฒนาและขยายตัวของเมืองต้นแบบ
ซึ่งเป็นโครงการที่พัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่ชายแดนใต้ ภายใต้แนวคิด “พัฒนาคน พัฒนาผู้ประกอบการ พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม” โดยมีพื้นที่เป้าหมายโครงการใน 3 อำเภอ 12 ตำบล ของจังหวัดสงขลา ได้แก่ 1. อำเภอจะนะ (ตำบลบ้านนา ตำบลนาทับ ตําบลตลิ่งชัน และตำบลสะกอม) 2. อำเภอเทพา (ตำบลปากบาง ตำบลท่าม่วง และตำบลลำไพร) และ 3. อำเภอสะบ้าย้อย (ตำบลเปียน ตำบลบ้านโหนด ตำบลจะแหน ตำบลทุ่งพอ และตำบลธารคีรี)
โดยมีร้านค้าจากกลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่เป้าหมาย ร่วมกิจกรรมและจัดแสดงสินค้ากว่า 100 ร้านค้า ณ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มทน.ศรีวิชัย พิธีเปิดงานได้รับเกียรติกล่าวต้อนรับ เปิดกิจกรรมและบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน โดย ผศ.อุดร นามเสน
รองอธิการบดี มทร.ศรีวิชัย และปาฐกถาพิเศษ “การพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่และยกระดับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน” โดย : นาวาเอก จักรพงษ์ อภิมหาธรรม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
มีผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ จากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และศูนย์ราชการในพื้นที่เป้าหมาย
ทั้งนี้ มทร.ศรีวิชัย ได้รับจัดสรรงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 แผนงานบรูณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ ภายใต้โครงการพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่ชายแดนใต้ไปสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมบนแนวทางเศรษฐกิจ BCG เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจระดับฐานรากของพื้นที่อย่างยั่งยืน รองรับการพัฒนาและขยายตัวของเมืองต้นแบบ โดยสนับสนุนภารกิจเชิงรุกตอบสนองยุทธศาสตร์การพัฒนา มทร.ศรีวิชัย ในพื้นที่ 3 อำเภอ 12 ตำบลข้างต้น ดังนี้
- ประเมินศักยภาพความพร้อมของผู้ประกอบการ ประชาชนและผู้ว่างงาน, 2. พัฒนาทักษะ (RUN Skill) การเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจนวัตกรรมบนแนวทางเศรษฐกิจ BCG, 3. พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ใช้ขับเคลื่อนธุรกิจของผู้ประกอบการ และ 4. จัดตั้งหน่วยบริการเทคโนโลยีและนวัตกรรม
เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้และพัฒนาทักษะ (RUN-Skill) ของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง และคนว่างงาน คนยากจน ในพื้นที่ชายแดนใต้ไปสู่การเป็นผู้ประกอบในธุรกิจนวัตกรรม ทั้งการผลิตและแปรรูปผลผลิตบนแนวทางเศรษฐกิจ BCG รองรับการพัฒนาและขยายตัวของเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต เสริมสร้างโอกาสการพัฒนาด้านเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับฐานรากตามศักยภาพของพื้นที่ เชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวมของพื้นที่จังหวัด กลุ่มจังหวัดและอนุภูมิภาค และเพื่อสร้างต้นแบบธุรกิจ BCG ด้วยนวัตกรรมที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า/บริการที่ก่อให้เกิดการสร้างโอกาส กระจายรายได้ และนำความมั่งคั่งไปสู่ชุมชนในท้องถิ่น