Home » ข่าว » “ปลากะพงมาเลย์”ทะลัก ขายปลีก100บาทต่อกิโลกรัม

“ปลากะพงมาเลย์”ทะลัก ขายปลีก100บาทต่อกิโลกรัม

สำนักข่าวโฟกัส
สมชาย สามารถ
สงขลา – พาณิชย์จังหวัดสงขลา ยอมรับการนำเข้าปลากะพงจากประเทศมาเลเซียมีผลกระทบเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงจังหวัดสงขลาสินค้า GI เผยราคาขายปลีกกิโลกรัมละ 100 บาท ในขณะที่ปลากะพงเกาะยอราคา 250 บาทต่อกิโลกรัม ศุลกากรสะเดาเปิดตัวเลขนำเข้า ม.ค.-ก.ค.2566 จำนวน 5,454 ตัน มูลค่า 409 ล้านบาท
นางสาวฉัตร์สุดา ชุมแสง พาณิชย์จังหวัดสงขลา เปิดเผย “ผู้สื่อข่าว” ถึงการนำเข้าปลากะพงจากประเทศมาเลเซียผ่านด่านศุลกากรสะเดาว่า ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่ามีการนำเข้าวันละเท่าไหร่


“ถ้าจะดูข้อมูลที่ชัดเจนว่านำเข้ามาวันละเท่าไหร่ น่าจะดูได้ที่ด่านศุลกากร แต่ที่ได้ยินจากเกษตรกรที่พูดถึงปลากะพงนำเข้าจากประเทศมาเลเซียที่มีการพูดถึงเรื่องนี้อยู่เหมือนกันว่าช่วงนี้ปลากะพงนำเข้าจากมาเลเซียเยอะขึ้นกว่าเดิม”
โดยเปรียบเทียบกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากปัจจุบันประเทศมาเลเซียสามารถเลี้ยงปลากะพงได้ที่มีขนาดโตแล้ว และเริ่มเข้ามาสู่จังหวัดสงขลาของเรา เหมือนกับที่เคยผ่าน ๆ มาแล้ว
เมื่อถามว่าการที่มีปลากะพงนำเข้าจากประเทศมาเลเซียนั้นมีผลกระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงจังหวัดสงขลาอย่างไร ก็ต้องบอกว่ามีผล
เพราะว่าเมื่อเร็ว ๆ เกษตรกรที่เลี้ยงปลากะพงที่อ.เทพา โทรมาบอกที่สำนักงานบอกว่าให้ช่วยหาสถานที่ขายปลากะพงให้หน่อย เพราะว่า ช่วงนี้ฝนตก บางครั้งตกเยอะ มีผลกระทบต่อการเลี้ยงปลากะพง
เนื่องจากปลากะพงจะน็อคน้ำ พอน็อคน้ำมันก็จะตาย พอใกล้ฤดูฝนเกษตรกรก็จะรีบขาย ทั้ง ๆ ที่ขนาดของปลากะพงยังไม่ได้ขนาดที่จะขายน้ำหนักต่อตัวไม่มาก


“ประมาณตัวละ 1 กิโลกรัม หรือประมาณ 1.5 กิโลกรัม ทางพาณิชย์จังหวัดสงขลาก็ติดต่อประสานห้างค้าส่งเพื่อจะพูดคุยและลงพื้นที่ไปที่อ.เทพาว่าจะช่วยเกษตรกรเลี้ยงปลากะพงกันได้อย่างไรบ้าง”
ฉะนั้นการนำเข้าปลากะพงจากประเทศมาเลเซียนั้นมีผลกระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงในจังหวัดสงขลาอย่างแน่นอน เพราะว่าปลากะพงที่นำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย มีราคาถูกกว่าปลากะพงในจังหวัดสงขลา
“ราคาปลากะพงในบ้านเรา ของเกาะยอ ราคาจะอยู่ที่ขายอยู่หน้ากระชังราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 220 บาท ในขณะที่ปลากะพงที่นำเข้ามาจากประเทศมาเลเซียราคาจะอยู่ที่ประมาณ 100 บาทต่อกิโลกรัม”
แต่หากมีการนำเข้ามาในปริมาณมาก ๆ ราคาก็จะอยู่ที่ประมาณ 90 บาทต่อกิโลกรัม ฉะนั้นถามว่าการนำเข้าปลากะพงจากประเทศมาเลเซียมีผลกระทบกับปลากะพงหรือเกษตรกรที่เลี้ยงปลากะพงจ.สงขลามีผลกระทบมั๊ย
คำตอบก็คือมีผลกระทบแน่นอนอยู่แล้ว เนื่องจากผู้บริโภคในภาวะที่ราคาสินค้าค่อนข้างสูง เขาก็ต้องไปซื้ออาหารหรือสินค้าอุปโภคบริโภคในราคาที่ถูกกว่าอยู่แล้ว เนื่องจากสามารถประหยัดเงินในกระเป๋าไปได้
“ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลาราเป็นสินค้า GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GI (Geographical Indication) ก็จริง เนื้ออร่อยจริง แต่ผู้บริโภคโดยทั่วไป เขาก็ต้องหาซื้อสินค้าในราคาที่ถูกกว่าอยู่แล้ว และพอบริโภคได้”
ฉะนั้นถามว่าการนำเข้าปลากะพงจากประเทศมาเลเซียมีผลกระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงในจังหวัดสงขลาหรือไม่ ก็ตอบว่ามีผลกระทบ


แต่ว่าในขณะนี้ผู้เลี้ยงปลากะพงที่เกาะยอก็ยังไม่มีร้องเรียนหรือว่าอะไรกับการนำเข้าปลากะพงจากประเทศมาเลเซีย เนื่องจากราคาขายปลีกของปลากะพงเกาะยอยังขายอยู่ที่ 250 บาทต่อกิโลกรัม
ที่พบปัจจุบันที่อ.เทพา เท่านั้นที่เขากลัวว่าปลากะพงจะน็อคน้ำแล้วมันจะตาย ก็เลยพยายามที่จะหาตลาดรองรับ ซึ่งปัจจุบันพบว่าปลากะพงที่นำเข้าจากประเทศมาเลเซียขายอยู่ตามตลาดสดทั่วไป
“ที่ตลาดสดหาดใหญ่พลาซ่าที่อ.หาดใหญ่ก็มีขายปลากะพงนำเข้าจากประเทศมาเลเซีย และอีกหลาย ๆ ตลาด จะเห็นชัดว่าราคาปลากะพงนำเข้าจากประเทศมาเลเซียราคาจะถูกกว่า”
บางครั้งขนาดตัวใหญ่กิโลกรัมละ 120 บาท ส่วนตัวเล็ก ๆ กิโลกรัมละ 90-100 บาท ขนาดน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ส่วนการนำเข้าปลากะพงจากประเทศมาเลเซียเป็นการนำเข้าโดยถูกต้องตามกระบวน
สำหรับราคาปลากะพงนำเข้าจากประเทศมาเลเซียที่มีราคาถูกกว่าปลากะพงของเกษตรกรในจังหวัดสงขลา น่าจะมาจากการเลี้ยง ต้นทุนการเลี้ยง ระยะเวลาน่าจะถูกกว่าเกษตรกรในจ.สงขลา
อย่างเช่นปลากะพงเกาะยอที่ได้ GI ต้องใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 2 ปี ซึ่งการเลี้ยงเวลา 2 ปี ต้นทุนในการเลี้ยงค่อนข้างสูง ในขณะที่ปลากะพงของมาเลเซียเขาเลี้ยง 1 ปี หรือกี่เดือนแล้วก็จับขาย
เพราะว่าขนาดที่มีการจับขายมีขนาดน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัมต่อตัว หรือ 1.2 หรือ 1.5 กิโลกรัม ขนาดตัวจะเล็กกว่า เพราะฉะนั้นต้นทุนการเลี้ยงก็ถูกกว่าของเราอยู่แล้วเขาก็เลยขายในราคาถูกกว่าได้
แต่ของเราปลากะพงเกาะยอจะให้เนื้อร่อยก็ต้องเลี้ยง 2 ปีเป็นอย่างน้อย มันก็เลยต่างกันที่ต้นทุนการเลี้ยง ทำให้ปลากะพงเกาะยอไม่สามารถขายในราคาถูกได้
สำหรับตัวเลขการนำเข้าปลากะพงจากประเทศมาเลเซียผ่านด่านศุลกากรสะเดาตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,454 ตัน มูลค่า 409 ล้านบาท
///////////

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *