ปัตตานี” 1 ใน 10 จังหวัดเป้าหมาย ศูนย์สร้างสรรค์งานออกเเบบ (TCDC) “ผู้ว่าฯ พาติเมาะ” ระดมทุกภาคส่วนร่วม ให้พลังคนรุ่นใหม่ ดึงวัฒนธรรมปัตตานีเชื่อมโลกมลายู และเทศบาลเมืองปัตตานีเป็นแกนนำขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ เเละเศรษฐกิจสร้างสรรค์
12 กรกฎาคม 2567 นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จังหวัดปัตตานี ครั้งที่ 1/2567 เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วย นายชูชีพ ธรรมเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี หัวหน้าส่วนราชการ กลุ่ม Melayu Living และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณห้องประชุมพญาตานี ชั้น 4 อาคาร 2 ศาลากลางจังหวัดปัตตานี
โดยการประชุมครั้งนี้ เพื่อที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดปัตตานี ระยะ 20 ปี ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
นางพาตีเมาะ สะดียามู กล่าวว่า จังหวัดปัตตานีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะได้หารือแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานของจังหวัดต่อไป
ทั้งนี้ ตามนโยบายของรัฐบาลได้กำหนดการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์สาขาต่าง ๆ ภายในประเทศ จำนวน 11 สาขา ได้แก่ อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบ และแฟชั่น
นโยบายในแต่ละสาขา ควรเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมและคน ในช่วงต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้ครอบคลุมถึงประชาชน ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มต้น ต้องการฝึกฝนหรือเรียนรู้เพื่อสร้างอาชีพในอนาคต “1 ครอบครัว 1 Soft Power” เตรียม “เนื้อหา Content” ที่จะใช้ในการ
Upskill/Reskill ให้ตรงกับความชำนาญ และเนื้อหาที่เป็นประโยชน์
ส่วนการจัด Event ให้เป็นการ “ต่อยอด” จากที่ภาคอุตสาหกรรมทำอยู่แล้ว รัฐควรพิจารณาต่อยอด Event ที่ทำแล้วจะช่วยขยายผลได้มาก ต่อยอดจากภาคอุตสาหกรรมให้เข้าถึงคนได้มากขึ้น และต้องให้แน่ใจว่าการต่อยอดนั้นเป็นประโยชน์มากขึ้น รวมถึงมีความคุ้มค่าในการลงทุน
ซึ่งปัตตานี เป็น 1 ใน 10 จังหวัด ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมการจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ TCDC ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย นครราชสีมา ปัตตานี พิษณุโลก แพร่ ภูเก็ต ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี โดยเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ผู้แทนจาก 10 จังหวัด ไปร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือเรื่อง โครงการจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์ งานออกแบบแห่งใหม่ (NEW TCDC) กับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)
จังหวัดปัตตานี เสนอสถานที่ที่จะตั้ง TCDC Pattani ที่อาคารพาณิชย์ 2 ชั้น 2 คูหา บนถนนปัตตานีภิรมย์ ย่านอา-รมย์-ดี ต.อาเนาะรู อ.เมืองปัตตานี
คนรุ่นใหม่นำสร้างพลังบวก!
“เป็นงานที่ก๊ะเมาะลุ้นสุดโต่ง เราต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ถือเป็นโอกาสของคนปัตตานีที่เราจะได้ร่วมกันสร้างสรรค์เมืองผ่านมือของคนรุ่นใหม่” นางพาตีเมาะ กล่าว และว่า
ตอนนี้เราตั้งคณะกรรมการเต็มตัวแล้ว โดยให้เทศบาลเมืองปัตตานีเป็นแกน และใช้ภาคีเครือข่ายอย่าง กลุ่ม Malayu living เข้ามาช่วย
ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเมืองของคนรุ่นใหม่ เจนใหม่ที่เขาอยากจะสร้างเมืองด้วยมือของเขา เราเชื่อมั่นว่า ท้ายที่สุดแล้ว TCDC ปัตตานีจะต้องเกิดขึ้นและรัฐบาลก็จะต้องหนุนให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยงบประมาณแรก TCDC สนับสนุนปัตตานีคือ 10 ล้านบาท ซึ่งเราก็เชื่อว่าทีม Malayu living จะทำให้มันเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
“เราจะสร้างสรรค์ปัตตานี สร้างพลังบวกในพื้นที่เยอะ ๆเพื่อใช้พลังบวกเหล่านี้ไปทำให้พลังลบบางบาง เราอยากสร้างบรรยากาศแบบนี้ให้เกิดขึ้นในพื้นที่” นางพาตีเมาะ กล่าว
ยกวัฒนธรรมปัตตานีเชื่อมโลกมลายู
ด้าน นายราชิต ระเด่นอาหมัด ประธานกลุ่ม Melayu Living และในฐานะผู้ร่วมขับเคลื่อนให้เกิด TCDC กล่าวว่า จุดเริ่มต้นในการเกิดขึ้นของ TCDC ปัตตานี เกิดจาก ทาง TCDC เขาอยากให้มันเกิดขึ้นที่ปัตตานี เพราะเขามองเห็นศักยภาพของพื้นที่ ความพร้อมของกลุ่ม Malayu living ที่ค่อยขับเคลื่อนเมืองผ่านการจัดงานต่าง ๆ ที่ผ่านมา เช่น Pattani Decoded ครั้งที่ 1 และ attani Decoded ครั้งที่ 2 ที่เราจัดที่ผ่านมา
“เราเป็นนักขับเคลื่อนอยู่แล้ว โดยเราทำกลุ่ม Malayu มา 9 ปี เรามี ม.อ.เข้ามาช่วย ครั้งนี้เราก็ช่วยให้ TCDC เกิดขึ้นที่ปัตตานี” นายราชิต กล่าว และว่า
1 ใน 10 จังหวัดที่ผ่านการคัดเลือกของ TCDC เขามองว่า ปัตตานีมีศักยภาพ และมีกลุ่มที่ขับเคลื่อนตรงนี้ ซึ่งเราได้ไปเชิญชวน เทศบาลเมืองปัตตานีให้เข้ามาดูแลก่อนในระยะ 2 ปีแรก โดยมี TCDC และ Malayu living เป็นพี่เลี้ยง
ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ ปัตตานีได้เชิญหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัด เข้ามาประชุม เพื่อร่วมกันวางแผน TCDC Patani ในอนาคต
“เราอยากทำให้ TCDC Patani เป็นเซ็นเตอร์ เชื่อมต่อวัฒนธรรมในโลกมลายู อย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และอยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่ที่จะทำให้ทุกคนใน 3 จังหวัดได้เข้ามาใช้บริการตรงนี้” นายราชิตกล่าว