Home » ข่าว » พรุ่งนี้ชายแดนใต้กับสื่อยุคดิจิตอล

พรุ่งนี้ชายแดนใต้กับสื่อยุคดิจิตอล

เสียงสะท้อนรอบด้าน ทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน จากเวทีเสวนา “พรุ่งนี้ชายแดนใต้กับสื่อยุคดิจิตอล” ในงาน 27 ปี สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่ห้างไดอาน่า หาดใหญ่

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ร่วมกับสงขลาโฟกัส จัดงาน “27 ปี สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ในส่วนภูมิภาค ภายใต้คอนเช็ปต์ Media &
Businesses Adaptation in the Age of Al การปรับตัวของสื่อและธุรกิจในยุค AI ระหว่างวันที่ 9-10 สิงหาคม 2567 ที่ Event Hall ชั้น B ศูนย์การค้าไดอาน่า โดยการสนับสนุนจากศูนย์อำนวยารบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.). กองทัพภาคที่4/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า, สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, เทศบาลนครหาดใหญ่, สมาคมโรงแรมหาดใหญ่-สงขลา, สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Etda), สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย, บริษัท ชีพีออลล์ จำกัด(มหาชน), โกไข่, ปลาณีต, โคโคโระ เค้กจำปาดะขนุน เกาะยอ, โกแก็ปหมูกรอบ และ ไข่เค็มใบเตยหอมกะทิสด

โดย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมองค์กรสมาชิกส่วนภูมิภาคที่เข้าร่วม อาทิ เชียงใหม่นิวส์ จ.เชียงใหม่, หมากแข้ง จ.อุดรธานี, ประชามติ จ.ตราด, หัวหินสาร จ.ประจวบคีรีขันธ์, ส่องใต้ จ.สตูล และสมิหลาไทมส์ จ.สงขลา

“พรุ่งนี้ชายแดนใต้กับสื่อยุคดิจิตอล”
ในงานวันที่ 9 สิงหาคม มีการเสวนาในหัวข้อ “พรุ่งนี้ชายแดนใต้กับสื่อยุคดิจิตอล” โดย ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่ ผู้อำนวยการ สถาบันสันติศึกษา ม.อ. พ.อ. เอกวริทธ์ ชอบชูผล หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า คุณกันต์พงษ์ ลิ่มกาญจนา รักษาการประธานหอการค้าจังหวัดยะลา คุณคทาวุธ แช่ม ผู้สื่อข่าวเวิร์คพอยท์ ประจำจังหวัดยะลาและ คุณสมชาย สามารถ บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส ดำเนินการเสวนา

ก่อนเสวนา นายจรัญ บำรุงเสนา ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวเปิดการเสวนาว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธาน ในพิธีเปิดงานเสวนาในครั้งนี้ และขอแสดงความยินดี ในโอกาสที่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติครบรอบ 27 ปี เชื่อว่าสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพ ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลด้านจริยธรรม รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนเสรีภาพของสื่อ มวลชนในประเทศไทย ครอบคลุมไปทั้งสื่อสิ่งพิมพ์สื่อวิทยุสื่อโทรทัศน์และสื่อดิจิตอล โดยสภาการหนังสือพิมพ์ได้ดำเนินการมาแล้ว 27 ปี ซึ่งนับเป็นภารกิจหลักในการกำกับดูแลเชิงรุกอันนี้ กลไกในการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะชนต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่เป็นสมาชิก เพื่อดูแลว่ามีการละเมิด จริยธรรมในวิชาชีพสื่อมวลชนหรือไม่อย่างไร ในเรื่องไหนบ้าง

“ในพื้นที่ภาคใต้ที่มีสถานการณ์เหตุการณ์ต่างๆ ทั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้น เป็นการสื่อสารที่ยาก มี โอกาสเสี่ยงที่จะผิดหลักจริยธรรมเยอะ” นายจรัสกล่าว และว่า

ด้วยจิตวิญญาณขององค์กรอิสระ ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเพื่อกำกับดูแล สื่อภายใต้สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ หวังว่าจะเป็นสภาการสื่อการสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่ได้ดำเนินการในด้านการกำกับดูแลจริยธรรมอย่างดีตลอดไปและเป็นกลางในการทำหน้าที่สื่อ

ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่ กล่าวว่า ตนสังกัดใน 2 บทบาท ทั้งในฐานะอาจารย์นิเทศศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี และผอ.สถาบันสันติศึกษา ม.อ. การ
หลอมรวมของสื่อดิจิทัลกับสังคมชายแดนใต้ เมื่อเทียบกับสถาบันสันติศึกษาเราต้องทำหน้าที่ที่ตอบสนองพื้นที่ ทั้งในประเด็นปัญหาทางสังคมด้านความมั่นคง โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการพัฒนาพื้นที่ของประชาชน สื่อดิจิตัลกับสถาบันการศึกษาเราก็เจอกับความท้าทายอยู่พอสมควร ในตลอดช่วง 10 ปี ก่อนหน้านี้ ซึ่งพบเจอความแข่งขันมากขึ้นเรื่อยๆ

“คนทำงานด้านสื่อต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสื่อดิจิทัล เราอาจจะคุ้นเคยกับอิทธิพลของมันที่กำลังจะสร้างอะไรต่อไปหลังจากนี้ สื่อดิจิทัลพึ่งพิงกับผู้ใช้ เมื่อก่อนเราอยู่ในบริบทของสื่อสารมวลชน มีองค์กรสื่อทำหน้าที่จัดการข่าวสารหรือจัดการเทคโนโลยี และทหน้าที่ส่งผ่านความรู้ต่างๆ ไปถึงประชาชน เป็นระบบช่องทางการสื่อสารแบบสื่อสารมวลชน แต่เมื่อเป็นสื่อดิจิทัล เราอาจจะคิดว่า เป็นสื่อผู้ใช้สาธารณะเป็นสื่อกลาง โดยที่ผู้ใช้เป็นผู้กำหนดประเด็นทางสังคม กำหนดพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ฉะนั้น เราอาจจะไม่คุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญของเทคโนโลยี”​

เมื่อไหร่ก็ตาม ที่เราปรับตัวได้ทัน และเราก็รู้บทบาทหน้าที่ในฐานะองค์กรสื่อที่เคยมีบทบาทของการสื่อสารกับประชาชน กับสังคม เชื่อว่า
มีกรอบจรรยาบรรรณในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเป็นแนวทางอยู่แล้วที่จะช่วยปรับให้เข้ากับผู้รับสารและเนื้อหา และพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนี่คือสิ่งที่เรากำลังจะเปลี่ยนผ่าน ที่ท้าทายทางด้านเทคโนโลยี และท้าทายการแข่งขัน

“แน่นอนว่า เมื่อทุกคนมีอุปกรณ์สื่อสารได้ รับข่าวสารได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เราเองในฐานะผู้ส่งข้อมูลข่าวสาร เราเข้าใจว่า สื่อในปัจจุบันก็มีการแข่งขันสูง ต้องหาทางอยู่รอด ก็ต้องเข้าใจผู้รับสารทำให้สื่อต้องสื่อสารตามตลาด ขายของตามตลาดและตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างเดียว”

ผศ.ดร.กุสุมา กล่าวต่อว่า คนทำสื่อในยุคดิจิทัลต้องนำเสนอสิ่งดีๆ ให้กับลูกค้า ซึ่งข้อมูลข่าวสารต้องแข่งขันได้ อยู่รอดได้ ผู้รับสารในฐานะประชาชนก็ต้องได้ประโยชน์ด้วย อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สถาบันการศึกษาพยายามทำข้อมูลข่าวสารตรงนี้

ประเด็นที่ 2 กำลังมองสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่หน้างานจริงๆ โดยเฉพาะสถาบันสันติศึกษา เราต้องทำงานด้านให้ความรู้ และการวิจัย เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาและความขัดแย้ง และการสร้างสันติภาพในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันสังคมเรามีแต่ความขัดแย้งทั้งในด้านการเมือง สังคมของกลุ่มวัย หรือเศรษฐกิจ ปัญหาสังคมต่างๆ จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งสูงขึ้น

“สื่อดิจิทัล เป็นได้ทั้งกำแพงและสะพาน การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทำให้คนแยกจากกันเสพสื่อเป็นกลุ่มเฉพาะ ทั้งกลุ่มไลน์ กลุ่มโซเชียลมีเดียหรือส่งต่อข้อมูลข่าวสารที่อาจไม่ได้มีการตรวจสอบ สุดท้ายก็ยิ่งทำให้ในกลุ่มเองเข้าใจผิด อาจจะทำให้เกิดการสร้างกำแพงขึ้นได้”

“ในฐานะสถาบันการศึกษา เราพยายามให้ความรู้ ติดอาวุธทางปัญญาที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ๆที่ใช้สื่อดิจิทัล สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูล ได้ความรู้ เท่าทันข่าวสาร โดยเฉพาะข่าวสารที่จะสร้างความขัดแย้ง สถาบันฯ พยายามจะติดอาวุธตรงนี้”

ผศ.ดร.กุสุมา กล่าวด้วยว่า โจทย์สำคัญสื่อดิจิทัลจะทำหน้าที่อย่างไรให้เป็นการสร้างสะพาน ให้กลุ่มต่างๆ ที่แตกต่าง หลากหลาย เข้าหากันได้ ซึ่งเทคโนโลยีทำได้ง่ายมาก เพราะตัวเทคโนโลยีราคาถูกลงเรื่อยๆ และไม่มีข้อจำกัดในเรื่องเวลาและสถานที่ มันทำให้คนแยกจากกัน และทำให้คนเข้าหากันได้

“ในวันนี้คนสื่อเองหรือคนที่ทำสื่อต้องมาคุยกันว่า จะทำอย่างไร ให้คนเชื่อมร้อยคนเข้ามา ในการสร้างสะพานเชื่อมต่อกันได้”

ส่วนความเข้าใจ นอกจากการสร้างสะพานแล้วสื่อเองต้องสร้างพื้นที่ของการสื่อสาร พื้นที่กลางร่วมกันในการแลกเปลี่ยน การสานเสวนา เพื่อที่จะได้แลกเปลี่ยนความคิด ข้อหมองใจ เราต้องแก้ไขในประเด็นไหน สร้างความร่วมมือกัน เพื่อร่วมกันสร้างสันติภาพ และกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความเห็นที่เห็นต่างได้

“สถาบันสันติศึกษาเราทำงานกับสื่อสารมวลชน ขอบคุณหนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัสที่ช่วยเป็นกระบอกเสียง เป็นพื้นที่กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในการสร้างความเข้าใจ รวมถึงเพจต่างๆ ที่อยู่ในเครือข่ายของสถาบัน ก็เป็นส่วนสำคัญในการช่วยสร้างความเข้าใจ และแสวงหาทางออกของปัญหาร่วมกัน เพื่อร่วมกันสร้างสะพาน สร้างพื้นที่ร่วมกัน” ผศ.ดร.กุสุมา กล่าว

พ.อ.เอกวริทธ์ ชอบชูผล กล่าวถึงมิติด้านความมั่นคง ในฐานะศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้า กับการใช้สื่อดิจิทัลว่า หลายท่านอาจจะมีความรู้สึกว่า ถ้าทหารมาทำงานประชาสัมพันธ์ เราจะทำงานกันอย่างไร

ด้วยภารกิจของกอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ดูแลเรื่องความสงบเรียบร้อย เราได้ทำหน้าที่เป็นผู้ขับเคลื่อนงานประชาสัมพันธ์ แน่นอนว่าเรา
ขับเคลื่อนฝ่ายเดียวไม่ได้ ตอนนี้เราประสานความร่วมมือในส่วนงานหลักระหว่างกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อช่วยเหลือในด้านการประชาสัมพันธ์ของเรา รวมถึงประชาคมข่าวต่างๆ สื่อมวลชนต่างๆ ที่ค่อยช่วยเหลือประสานงาน

“สื่อดิจิทัลในปัจจุบัน เป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะช่องทางการเข้าถึงผู้คนส่วนใหญ่ก็มาจากสื่อดิจิทัลๆถือเป็นสื่อที่ค่อนข้างรวดเร็ว ที่ใส่ความรู้สึกส่วนตัว ใส่ข้อมูลข่าวสารที่อาจจะเกิดประโยชน์”

ศูนย์ประชาสัมพันธ์ต้องสร้างมาตรฐานในการที่จะสร้างข้อมูลที่ถูกต้อง ดำเนินการรวบรวมข่าวสารในเรื่องความมั่นคง เพื่อให้ทุกคนในพื้นที่ได้เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เช่น การบังคบใช้กฎหมายซึ่งโอกาสที่ผู้สื่อข่าวต่างๆจะเข้าไปถึงที่ตรงนั้นค่อนข้างยาก เพราะว่า อาจจะเกิดอันตรายได้ หลังจากที่เราเห็นในภาพข่าวปัจจุบันก็เป็นเช่นนั้น ฉะนั้น ศูนย์ประชาสัมพันธ์จึงทำหน้าที่ในการรวบรวมข่าวสาร การผลิต และการเผยแพร่ตามแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เรามี เช่น YouTube ,Facebook ,Instagram ,X ซึ่งเรามีแพลตฟอร์มมากมายที่จะส่งสารสู่พี่น้องประชาชน

นอกจากศูนย์ประชาสัมพันธ์จะทำหน้าที่ในการผลิต เผยแพร่ และกระจายข่าวสาร เรายังทำหน้าที่ในการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องที่สุดด้วย เพื่อที่จะส่งให้กับพี่น้องสื่อมวลชนในการช่วยทำหน้าที่เผยแพร่ข่าวสาร แม้ในบางครั้งอาจจะทำให้พี่น้องสื่อมวลชนมีความรู้สึกว่า ทำไมเข้าไม่ถึง เรามีสื่อที่พยายามสร้างความเข้าใจให้มากที่สุด เพื่อให้พี่น้องสื่อมวลชนได้เผยแพร่ข่าวสารที่ถูกต้อง ฉะนั้น เวลามีเหตุเกิดขึ้นในพื้นที่ เราจะเห็นว่า ข้อมูลค่อนข้างหลากหลาย มาจากหลายกลุ่มโดยเฉพาะสื่อดิจิทัล

“สื่อดิจิทัลควบคุมได้ยาก ฉะนั้น ถ้าไม่มีจรรยาบรรณ ในเรื่องเหล่านี้ก็จะเกิดปัญหาอย่างนี้ทุกครั้งในพื้นที่ และทุกครั้งที่เกิดความสับสน เราก็จะแถลงข่าวรายงานข่าวสารที่ถูกต้อง”

พ.อ.เอกวริทธ์ กล่าวต่อว่า ถ้าเราประสานความร่วมมือ ในการใช้สื่อ โดยที่รับข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็จะไม่เกิดปัญหาขึ้น

ปัจจุบัน ในพื้นที่สังเกตได้ว่า มีพี่น้องประชาชนหรือสื่อหลายๆ ท่าน มีการรายงานข่าว ความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ลงในสื่อออนไลน์ของตัวเอง ในบางครั้งมีจุดตรวจ ด่านตรวจอยู่ตรงไหน มีทหารเดินลาดตะเวนอยู่ตรงนี้ มีชาวบ้านไปหาของป่าอยู่ตรงนี้ซึ่งท้าทายการทำงานด้วย รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่ด้วยต้องระมัดระวังในการปฏิบัติภารกิจ ชีวิตตามปกติ อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สื่อดิจิทัลมีผลต่อภารกิจการทำงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงการใช้ชีวิตของพี่น้องประชาชน

ทั้งนี้ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ ทำหน้าที่หลักในการให้ข้อมูลข่าวสารอยู่แล้ว เมื่อพี่น้องสื่อมวลชนหรือพี่น้องประชาชนในพื้นที่อยากจะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นข้อเท็จจริงก็สามารถที่จะตรวจสอบกับศูนย์ประชาสัมพันธ์ของกอ.รมน. ภาค4 ส่วนหน้า

โดยเฉพาะ เพจของศูนย์ประชาสัมพันธ์กอ.รมน.ภาค 4 สน. เรามีข้อเท็จจริง ที่สามารถเชื่อถือได้ เพราะเราเป็นหน่วยงานของภาครัฐ และเราก็ต้องทำตามกฎหมายเป็นหลัก เรามีความรับผิดชอบ ที่ไม่ใช่เราแค่คนเดียว แต่ทั้งระบบต้องรับผิดชอบ

“ขอให้พี่น้องประชาชนเชื่อมั่นว่า ข้อมูลที่มาจากศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค 4 สน.คือ สิ่งที่ถูกต้องแน่นอน ถ้าสงสัยตรงไหนก็สามารถเปรียบเทียบได้เลย” พ.อ.เอกวริทธ์ กล่าว และว่า

สิ่งที่เราทำมาตลอดคือ การสร้างความเข้าใจให้กับพี่น้องประชาชน และประชาสัมพันธ์การทำงานของทุกส่วนราชการ ที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดและ 4 อำเภอ สงขลาด้วย

นายกันต์พงษ์ ลิ่มกาญจนา กล่าวว่า ในมุมมองของภาคเอกชนมองว่า การรายงานข่าวเหตุการณ์ความไม่สงบ ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและภาคการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ในอดีตการรายงานข่าวไม่ได้รวดเร็วเหมือนกับปัจจุบัน ที่ทุกครั้งเมื่อมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 – 2567 เกือบ 20 ปี สื่อทุกสื่อก็ยังทำข่าวเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่อยู่ แม้จะมีการรายงานว่า สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่เบาบางดีขึ้น ซึ่งตอนนี้สถานการณ์กลับมาทวีความรุนแรงขึ้น

ในอดีตกว่า ข่าวจะถูกรายงานออกไปยังสาธารณะอาจใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่ปัจจุบันเมื่อเป็นสื่อดิจิทัล เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นในพื้นที่ไม่ถึง 10 นาที ข่าวก็ออกไปทั่วประเทศไทยและทั่วโลก มันรวดเร็วมาก ผลกระทบจากที่ข่าวสารถูกรายงานออกไปนั้น ไม่ได้ส่งผลดีต่อการพัฒนาพื้นที่

“สื่อดิจิทัลในชายแดนใต้ทำหน้าที่ทั้งดีและไม่ดี ผลดีทำให้คนได้รับรู้ข้อมูล ข่าวสารต่างๆ ของในพื้นที่ ส่วนผลเสียทำให้คนข้างนอกคิดว่า พื้นที่สามจังหวัดมีแต่เหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอยู่ตลอด” นายกันต์พงษ์ กล่าว

นายคทาวุธ แช่ม กล่าวว่า ในยุคดิจิทัลจะเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้ พ.ร.บ. คอมฯ และสิทธิมนุษยชน ซึ่งการทำหน้าที่ของสื่อ ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราจะส่งให้ช่อง จะมีบก.ที่อยู่ส่วนกลางคอยทำหน้าที่คัดกรองให้กับนักข่าวท้องถิ่นในพื้นที่ แต่พอเป็นยุคดิจิทัล การรายงานข่าวผ่านสื่อโซเชียล เมื่อเราได้แหล่งข่าว ข้อมูล อาจจะมี ฟีดแบคกลับมาหาเรา

“อดีตทีวีเป็นเพียงการรายงานข่าวทางเดียวไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนดู ที่เป็นผู้รับสาร นักข่าวอย่างเราทำหน้าที่แค่ส่งข่าวไปส่วนกลาง ข่าวก็ถูกรายงานผ่านหน้าจอทีวี ผู้รับสารในฐานะคนดูวิพากษ์วิจารณ์แค่ในบ้าน ไม่ถูกใจก็ไปโม้ที่ร้านน้ำชา แต่ปัจจุบันเมื่อเป็นยุคดิจิทัล การสื่อสาร 2 ทาง เมื่อผมลงข่าวอะไรก็ตาม จะต้องมีคนที่ถูกใจและไม่ถูกใจ และบางครั้งคนที่ไม่ถูกใจเขาก็เข้ามาคอนเม้นท์ในเพจเราทันที”

“คนทำสื่อในยุคดิจิทัลปัจจุบันมีแรงเสียดทานค่อนข้างเยอะ ถ้าเราลงข่าวแล้วมีคนมาคอนเม้นท์เราเกิดคำถามตัวเองว่า ทำผิดอะไร รวมถึงต้องตระหนักถึง พ.ร.บ.คอมฯ การนำเสนอข้อมูลข่าวสารต้องรอบคอบมากขึ้น หลีกเลี่ยงการรายงานข้อมูลส่วนตัว ที่อยู่ของผู้ต้องสงสัยในเหตุการณ์ 3 จังหวัดที่อาจจะส่งผลกระทบต่อญาติพี่น้อง รวมถึงตัวเราคนทำสื่อก็อาจจะโดน พ.ร.บ.คอมฯ”

นายคทาวุธ กล่าวต่อว่า การรายงานข่าวมีข้อจำกัดมากขึ้น เช่น กฎหมาย PADA (พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ป้องกันการละเมิดความเป็นส่วนตัว และสร้างความมั่นใจบริการออนไลน์ต่างๆ

“หลังๆ ผมจึงใช้วิธีการดูทิศทางการรายงานข่าวชิ้นนั้นๆ ว่า ควรต้องรายงานข่าวแบบใด เพื่อป้องกันการถูกฟ้อง ตัวอย่างเช่น ข่าวพ่อค้ายาเสพติดเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะให้ข่าวแจกกับนักข่าว ซึ่งเป็นข้อมูลที่ละเอียด มีข้อมูลส่วนตัวของผู้ต้องหา ในฐานะที่เราเป็นแอมินดูแลเพจข่าวด้วย ถือเป็นโจทย์ยากให้กับคนทำงานที่ต้องรายงานข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้ลงในสื่อออนไลน์ เนื่องจากมี พ.ร.บ.คอมฯคุ้มครองอยู่ เป็นต้น ทำให้เราในฐานะคนทำข่าวต้องตระหนักมากขึ้น รวมถึงในยุคสื่อดิจิทัลในปัจจุบันเราก็ต้องตระหนักมากขึ้นด้วย”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *