นักวิชาการอิสระแผ่นดินไหววิทยา เสนอติดตั้งระบบเตือนภัยดินถล่ม หรือ Land slide early warning , LSEW ในจุดเสี่ยงเพื่อลดความสูญเสียในอนาคต หลังเกิดเหตุดินถล่มที่จังหวัดภูเก็ต แนะถึงเวลาตั้งกระทรวงภัยพิบัติแก้ปัญหาเบ็ดเสร็จทุกภัยพิบัติที่เกิดขึ้น
ดร.ไพบูลย์ นวลนิล นักวิชาการอิสระแผ่นดินไหววิทยา เปิดเผย “ผู้สื่อข่าว”ว่า เสนอการแก้ปัญหาดินโคลนถล่มเพื่อลดความสูญต่อเสียชีวิตและทรัพย์สิน หลังจากเกิดเหตุการณ์ดินถล่มที่จังหวัดภูเก็ตว่าสิ่งที่จะต้องดำเนินการอันดับแรกและเป็นเรื่องเร่งด่วนก็คือการติดตั้งระบบเตือนภัยดินถล่ม หรือ Land slide early warning , LSEW ในจุดเสี่ยงเพื่อลดความสูญเสียในอนาคต
โดยหลักจะมีระบบหัววัดดินถล่ม ซึ่งจะมีหลายๆประเภท เช่น tiltmeter, inclinometer , crackmeter wire , peizometer, rainguage เป็นต้น
“เรารู้โดยกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีข้อมูลหมดสำหรับจุดเสี่ยงภัยดินถล่ม และสองก็มีงานวิจัยของนักวิชาการสำหรับพื้นที่เสี่ยงและชุมชนที่หนาแน่นเช่นจังหวัดภูเก็ตจะมีเยอะ”
แต่ปัจจุบันเราแค่รู้ว่ามีพื้นที่เสี่ยงตรงไหนบ้าง แต่เราไม่เคยบริหารจัดการเรื่องความเสี่ยงเลย โดยการติดตั้งระบบเตือนภัยดินถล่มล่วงหน้าซึ่งระบบเตือนภัยดินถล่มล่วงหน้าเมื่อมีสัญญาณว่าจะเกิดเหตุดินถล่มเกิดขึ้น สามารถเตือนให้คนอพยพออกจากพื้นที่ได้ทันไม่เสียชีวิต รวมทั้งทรัพย์สินมีค่าบางอย่างก็สามารถนำออกมาได้ทัน สามารถขนย้ายได้ทัน
“ความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์เทียบกับการลงทุนระบบเตือนภัยดินถล่มล่วงหน้าคุ้มค่า ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้มีการติดตั้งระบบเตือนภัยดินถล่มล่วงหน้า”
ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ที่เขามีเหตุการณ์ดินถล่มเขาจะมีกรติดตั้งระบบเตือนภัยดินถล่มล่วงหน้ากัน ซึ่งมันมีความจำเป็นในการเตือนภัยคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ให้อพยพได้โดยเร็ว โดยที่ไม่สูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินบางส่วนประกอบกับปัจจุบันเรามีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ สำหรับการติดตั้งระบบเตือนภัยดินถล่มได้เป็นอย่างดี เช่นเรามีแผงโซลาร์ การสื่อสาร 4G, 5G ที่รองรับระบบไร้สายได้อย่างมีประสิทธิภาพสามารถส่งข้อมูลจาก หัววัดต่างๆเข้า เซิร์พเวอร์ ประมวลผลด้วยโปรแกรม ก่อนที่จะทำการแจ้งเตือน ชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณเสี่ยงภัยดินถล่ม
สำหรับการติดตั้งระบบเตือนภัยดินถล่มล่วงหน้าซึ่งต่างประเทศเขามีนั้น ประเทศไทยอาจจะไม่รู้หรือรู้แล้วไม่ทำ แต่ส่วนใหญ่อาจจะไม่รู้
“แม้แต่ในแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ก็ไม่มีการพูดถึงการบริหารจัดเรื่องภัยพิบัติต่าง ๆ แบบเบ็ดเสร็จทุกภัยพิบัติไม่มีอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติเลย”
เพราะโครงสร้างใหญ่คือภัยพิบัติ เช่น ภัยแล้งก็คือภัยพิบัติกลุ่มภัยพิบัติธรรมชาติ ภัยแล้ง น้ำท่วม พายุ ดินถล่ม แผนดินไหว สึนามิ อันนี้เป็นภัยพิบัติธรรมชาติ
ยังไม่รวมถึงภัยพิบัติที่เกิดจากฝีมือมนุษย์เช่น โรงงานระเบิด รังสีรั่ว พวกสารพิษ มลพิษ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เข้าข่ายภัยพิบัติทั้งสิ้น ขนาดภัยพิบัติที่เกิดจากฝีมือมนุษย์รู้ทั้งรู้ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้
แล้วกับภัยพิบัติธรรมชาติที่บางอย่างคาดการณ์ได้ บางอย่างคาดการณ์ไม่ได้ แล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาบอกว่าฝนตกให้เตรียมตัวก็ยังไม่รอด
“จังหวัดภูเก็ตน้ำท่วมมากี่ครั้งแล้ว นายกรัฐมนตรีลงไปชี้นิ้วเอง จะทำโน้นทำนี่ แล้วถามว่าแก้ปัญหาได้มั๊ย แก้ไม่ได้เหมือนเดิม เพราะว่าการบริหารจัดการเรื่องภัยพิบัติ เรื่องการบริหารจัดการป้องกันน้ำท่วมไม่ได้ทำเป็นระบบทั้งหมด
ดร.ไพบูลย์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาภัยพิบัติต่าง ๆ ของรัฐบาลในปัจจุบันนั้นถือว่ายังไม่ได้มีการบูรณาการที่ดีระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้เป็นการแก้ปัญหาหลังเกิดเหตุ
ฉะนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะพิจารณากระทรวงภัยพิบัติเพื่อแก้ปัญหาภัยพิบัติทุกภัยพิบัติแบบครบวงจรตั้งแต่การแจ้งเตือน ป้องกัน แก้ปัญหาระยะยาว โดยใช้นักวิชาการ ผู้รู้มาทำงาน
“สมมุติว่ามีกระทรวงภัยพิบัติสามารถจัดการได้เบ็ดเสร็จ มีกรมต่าง ๆ เช่น กรมนี้ดูแลเรื่องดินถล่มหรือว่ากรมนี้ดูแลเรื่องน้ำท่วม กรมนี้ดูเรื่องแผ่นดินไหว สึนามิ เป็นต้น”
ยกตัวอย่างศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 20-30 คน แต่ไม่มีนักวิชาการอยู่เลย การทำงานจึงเป็นการทำงานตามคำสั่ง ไม่มีแผนงาน
ในขณะที่ข่าวภัยพิบัติเกิดขึ้นบ่อยมาก แต่ถ้ามีกระทรวงภัยพิบัติแห่งชาติจะมีงบประมาณ และมีผู้ดูแลบริหารจัดการ เพราะว่าเรื่องเกี่ยวกับภัยพิบัติต้องใช้องค์ความรู้
ซึ่งองค์ความรู้ต้องมีการเก็บข้อมูล ต้องมีข้อมูลพื้นฐาน จะต้องมีสารพัดข้อมูลที่ต้องเก็บเป็นฐานข้อมูลเพื่อจะเอามาใช้ในการบริหารจัดการจากฐานข้อมูล
ไม่ใช่รอให้เกิดเหตุแล้วไปแจกข้างสาร อาหารแห้ง ผัดข้าวผัดแจก แบบนี้ไม่ใช่ แบบนั้นเขาเรียกว่าการเยียวยา เป็นการให้กำลังใจเท่านั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหา