นายชาญวิทย์ รัตนชาติ หรือ “พี่เอี้ยง” ศิษย์เก่าดีเด่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ปี 2544 และศิษย์เก่าดีเด่นวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์/ ผู้ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนบ้านเทพหยา ศูนย์เรียนรู้ส่งเสริมคนดี สู่วิถีพอเพียง ตามดำริ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ต.ป่าขาด อ.สิงหนคร จ.สงขลากล่าวว่า ตนเกิดและเติบโตที่บ้านหัวป่า ต.บ้านขาว อ.ระโนด จ.สงขลา ที่บ้านมีพี่น้องหลายคนฐานะค่อนข้างยากจน มีที่ดินอยู่ไม่มาก แต่พ่อกับแม่ก็บริจาคที่ดินให้กับโรงเรียนวัดหัวป่า ซึ่งมี ครูผัด จันทน์เสนะ (บิดาของนายบัญญัติ จันทน์เสนะ) เป็นครูใหญ่ในขณะนั้น ทำให้มีที่ดินสร้างโรงเรียน จากเดิมตั้งอยู่ในวัด
อีกทั้ง ยังบริจาคที่ดินให้กับชลประทานทุ่งระโนดในการจัดตั้งสำนักงานชลประทานด้วย และพ่อได้ทำงานเป็นคนงานในชลประทานทำให้มีเงินเดือนจุนเจือครอบครัว
หลังเรียนจบ ม.3 ที่โรงเรียนตะเครียะวิทยาคม ได้สมัครเรียนที่ “วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ รุ่นที่ 4”โดยทางวิทยาลัยฯ เปิดโอกาสให้นักเรียนที่ตั้งใจเรียน เป็นเด็กดี และเกรดเฉลี่ย 2.50 ขึ้นไป สมัครเข้ารับทุนการศึกษา
“ผมมีคุณสมบัติครบถ้วน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการได้รับทุนของมูลนิธิพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในปี 2530” พี่เอี้ยง กล่าว และว่า
ความรู้สึกที่ได้รับทุน สามารถแบ่งเบาภาระที่บ้านได้มาก ได้ค่าเล่าเรียนปีละ 5,000 บาท เหลือเก็บก็นำเงินให้พ่อแม่ซื้อของทำการเกษตร และได้ช่วยเหลือครอบครัว
ทุก ๆ ปีจะมีการจัดพิธีมอบทุนการศึกษา ตนได้เข้ารับจากมือ “ป๋าเปรม” ท่านได้ให้โอวาทว่า “เราเป็นนักเรียน การศึกษาจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และเด็ก ๆ ในสงขลายังลำบากอีกมาก จึดเปิดโอกาสให้ทุนการศึกษากับเด็กเยาวชน”
ทุนการศึกษาดังกล่าวเป็นทุนต่อเนื่อง หากนักเรียนรักษาคุณภาพการเรียนที่ดีก็จะได้รับทุนจนจบวิทยาลัย และจะพิจรณาคัดเลือกนักเรียน 1 คน ที่ได้รับทุนไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ค่าเล่าเรียนปีละ 7,000 บาท
“การเรียนของผม เกรดเฉลี่ยสะสมสูงขึ้นเรื่อย ๆทางวิทยาลัยเห็นว่ามีคุณสมบัติตรงตามความต้องการ คือ 1. การเรียนเป็นไปตามเกณฑ์ 2. มีความประพฤติดี และ 3. มีการช่วยเหลือครูและวิทยาลัย จึงได้รับเลือกให้ได้รับทุนเรียนต่อปริญญาตรี”
“ป๋าให้ความสำคัญกับการศึกษา ท่านบอกว่าประเทศไทยมีเยาวชนเป็นอนาคตของชาติ ความยากจนจะเป็นต้นเหตุของปัญหา ถ้ามีการศึกษา มีความรู้ ความคิดที่ดี ปัญหาความยากจนจะหมดไป”
ดังนั้น การศึกษาเป็นพื้นฐานที่จำเป็นอย่างยิ่ง ป๋าจึงริเริ่มตั้งมูลนิธิเพื่อให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชน และต่อยอดให้เด็กมีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น
พี่เอี้ยง เล่าว่า หลังจบมหาวิทยาลัย ได้ทำงานบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในตำแหน่งฝ่ายขายและทราบว่าป๋าเป็นประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ต่อมาได้อาสาโอนย้ายไปทำงานในโครงการพัฒนาอาชีพตามดำริของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่จังหวัดสงขลา เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ยกระดับคุณภาพชีวิต ภายใต้รูปแบบรัฐร่วมเอกชน หรือคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ร่วมสนับสนุน และย้ายมาทำงานกับมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์
การศึกษาเพื่อพัฒนา มีเส้นทางและเป้าหมายให้คนมีความรู้ที่ถูกต้อง นอกจากสร้างความรู้แล้วต้องสร้างความรัก ช่วยเหลือแบ่งปัน ความรู้ต้องอยู่ในพื้นฐานของความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การศึกษานำไปสู่ความรู้รักสามัคคี เข้าถึงและพัฒนาในท้ายที่สุด
แนวคิดการทำงานที่ได้จากป๋า การลงชุมชน คือ 1. การพัฒนาการศึกษา จากที่ตนได้รับการศึกษาแล้ว เราต้องส่งต่อให้ผู้อื่นด้วย 2. พัฒนาสุขภาพอนามัย ดูแลสุขภาพของชาวบ้าน และ 3. การประกอบอาชีพ โดยทำทั้ง 3 อย่างนี้ควบคู่กันไป
“ป๋ามีแนวคิดที่หนักแน่นว่า เราต้องช่วยเหลือผู้อื่นจนกว่าเราจะสิ้นชีวิต มาช่วยป๋ามาเป็นทีมเดียวดูแลสังคมเหมือนที่ป๋าทำ โดยมีป๋าเป็นต้นแบบ”
ในการงานชุมชน ป๋าบอกว่า การเข้าไปทำงานในชุมชน เราไม่ใช่เจ้านายของชาวบ้าน แต่เป็นมิตรเป็นคู่คิด การทำงานกับชาวบ้านมีทั้งข้อดีเสีย ต้องใช้มิตินุ่มนวลอย่างเดียว อย่าไปแข็งกับชาวบ้าน เป็นคำสอนของป๋า
ฉะนั้น ปัญหาอยู่ที่ชุมชน อย่านั่งอยู่ที่โต๊ะเพียงอย่างเดียว แต่ต้องลงไปที่เกษตรกรเรา จึงรู้ปัญหาคลุกคลีกับชาวบ้าน ข้อมูลที่ได้ต้องมาจากชาวบ้านที่เป็นข้อเท็จจริง ป๋าจะถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ลำดับความสำคัญ และการแก้ปัญหา โดยคอยให้คำปรึกษาโดยตลอด
“ในวันเกิด ป๋าไม่ต้องการดอกไม้หรืออะไร เพียงแค่นักเรียนทุนเขียนจดหมายมาบอกเล่าว่า ได้ทำความดีอะไรไปบ้าง แค่นี้ก็พอใจแล้ว”
พี่เอี้ยง กล่าว ต่อว่า จากการที่จังหวัดสงขลาจะประกาศให้วันที่ 26 สิงหาคม เป็น “วันการศึกษา”เพื่อสืบสานเจตนารมณ์ป๋า มองว่าการศึกษาจะสร้างคนให้มีความรู้ ความคิด ให้เป็นคนดี สติปัญญาเกิดขึ้นได้จากการศึกษา สิ่งที่ป๋าทำเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน
ป๋า บอกเสมอว่า อยากให้เป็นคนดีมากกว่าคนเก่ง ถ้าเป็นคนดีได้ ความเก่งก็พัฒนาได้ไม่ยากนักการเป็นคนดีสำคัญมาก ไม่เบียดเบียนตัวเอง ผู้อื่น เป็นมิตรกับตัวเอง และสังคม
พี่เอี้ยง บอกด้วยว่า ได้มีโอกาสติดตามป๋า จึงได้ถามถึงที่มาของคำว่า “เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” ป๋าไม่ได้ตอบในทันที แต่จะให้คำตอบโดยส่งแฟกซ์มาความว่า คิดตั้งแต่เป็น นรม. (นายกรัฐมนตรี) มีที่มาจากที่ได้มีโอกาสติดตามล้นเกล้าทั้ง 3 พระองค์ สมเด็จย่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ทำให้ป๋าหล่อหลอมแนวคิดที่ว่า “คนเราเกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” เป็นคนดี รู้จักบุญคุณคน และบุญคุณแผ่นดิน
“ป๋าสอนว่า ถ้าเราเป็นคนดีไม่ว่าอยู่ในองค์กรหรือหน่วยงานไหน อย่ามองหาความดี แต่ต้องสร้างความดี เมื่อสร้างแล้วต้องรักษายไว้ด้วย การสร้างความดีกับรักษาความดี เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน ถ้าความดีขาดตอนเปรียบเหมือนปากกาขาดตอนใช้ไม่ได้ คนก็เช่นกันถ้าดีบ้างไม่ดีบ้าง แสดงว่าเป็นคนที่ใช้ไม่ได้” พี่เอี้ยง กล่าว