Home » ข่าว » วชช.สงขลาจัดงานวิชาการ-วิชาชีพ“การศึกษาเพื่อสร้างความเท่าเทียม”

วชช.สงขลาจัดงานวิชาการ-วิชาชีพ“การศึกษาเพื่อสร้างความเท่าเทียม”

“วชช.สงขลา” รวมวิชาการและการอาชีพ จัดมหกรรมส่งเสริมพัฒนาชุมชน ผู้แทนศอ.บต. – อว. ร่วมแสดงความยินดี และสนับสนุน ยกเป็นความสำเร็จของพื้นที่สร้างคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างคุ้มค่า

17 ส.ค. 67 วิทยาลัยชุมชนสงขลา จัดงานมหกรรมวิชาการและวิชาชีพสู่การเป็นผู้ประกอบการชุมชน : การจัดการศึกษาเพื่อสร้าง ความเท่าเทียม Equitable Education ภายใต้โครงการการขับเคลื่อนการดำเนินงาน โครงการ ภายใต้แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ วิทยาลัยชุมชนสงขลา มีตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม อาทิผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต). ตัวแทนกระทรวงอว. ตัวแทนอำเภอสะบ้าย้อย อำเภอเทพา เทศบาลตำบลเทพา อบต.วังใหญ่ โรงเรียนและสถานศึกษาในอ.เทพา สภาวิทยาลัยชุมชนสงขลา บุคลากรและนักศึกษา วชช.สงขลา เข้าร่วมจำนวนมาก

นายวิสันต์ ประเสริฐศรี ผู้ช่วยเลขาธิการศอ.บต. ประธานในพิธี กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการส่งเสริมการศึกษา ส่งเสริมอาชีพ ให้กับชุมชน ซึ่งเป็นนโยบายหลักของศอ.บต.ในการพัฒนาเพื่อสร้างความมั่นคงและแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

ต้องขอบคุณคณะกรรมการสภาวิทยาลัยชุมชนสงขลา และทุกๆ ท่านที่ให้เกียรติเข้าร่วมงานและขอแสดงความยินดีกับคณะกรรมการฯ ผู้ให้การสนใจและสนับสนุนการจัดการศึกษาของวิทยาลัยฯ

“เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผมเรียนจบป.โทใหม่ๆ เคยเป็นอาจารย์สอนพิเศษที่วิทยาลัยชุมชน ซึ่งขณะนั้นเพิ่งจะเริ่มมีวิทยาลัยชุมชน ปัจจุบันผ่านมา 20 ปีได้เห็นการพัฒนาของวิทยาลัยชุมชนก็รู้สึกภูมิใจและยินดีกับการเติบโต” นายวิสันต์ กล่าว และว่า

ในช่วงแรกๆ ยังมีนักศึกษาไม่กี่ร้อยคน แต่ในปัจจุบันกลับมีจำนวนมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งได้พูดคุยกับท่านผอ.พรเพ็ญ ทราบว่ามีนักศึกษาเรียนจบไปแล้วเป็นจำนวนหลักพันในการเรียนการสอน นอกจากเป็นการสร้างโอกาส สร้างความเท่าเทียมให้กับชุมชน เพราะเยาวชนทุกวันนี้บางส่วนต้องช่วยครอบครัวทำงาน จึงเป็นการเปิดโอกาสให้กับเยาวชนได้พัฒนาด้านการศึกษา เมื่อจบไปแล้วก็สามารถนำความรู้ไปทำงาน หรือศึกษาต่อ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับตัวเอง

“อยากเห็นความก้าวหน้าของวิทยาลัยฯ และมาร่วมเพื่อแสดงความยินดี ได้เห็นประโยชน์จากการสนับสนุนของศอ.บต.อย่างคุ้มค่าและแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ขอให้การดำเนินงานของวิทยาลัยชุมชนสงขลาประสบความสำเร็จยิ่งๆ ขึ้นไป” ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าว

ขณะที่ อ.พรเพ็ญ ประกอบกิจ ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนสงขลา กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการภายใต้แผนงาน บูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะได้นำผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลจากการพัฒนา ในการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งในหลายพื้นที่ของจังหวัดสงขลา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการ พัฒนาและยกระดับทุนฐานดำรงชีพ 5 มิติ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของทั้ง 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา โครงการส่งเสริมอาชีพกลุ่มผู้เปราะบางและเยาวชนพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่ได้ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาในหลากหลายมิติ เช่น มิติทางการศึกษา มิติการสร้างอาชีพ การอนุรักษ์ภูมิปัญญา การส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม การแก้ไขปัญหาความยากจน หรือแม้กระทั่งการลดความรุนแรง เพื่อให้เกิดความสงบและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในพื้นที่

ทั้งยังดำเนินงานโครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน บนฐานทุนทรัพยากรและภูมิปัญญาสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ
โครงการจัดการความรู้เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โครงการพัฒนาทักษะอาชีพตามความต้องการในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และโครงการส่งเสริมการปลูกและการสร้างมูลค่าเพิ่มจากพืช สมุนไพร ซึ่งได้ดำเนินงานอย่างเป็นระบบ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่องสู่การเป็นผู้ประกอบการชุมชน

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมการนำเสนอผลงานของทุก โครงการในครั้งนี้ จะได้มีแนวทางในการพัฒนางานและความคิดเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการ ชุมชนต่อไปในอนาคต

“งานมหกรรมวิชาการและวิชาชีพสู่การเป็นผู้ประกอบการชุมชน การจัดการศึกษาเพื่อสร้างความเท่าเทียม Equitable Education ภายใต้โครงการการขับเคลื่อนการดำเนินงาน โครงการ ภายใต้แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับความร่วมมือจากชุมชนต่าง ๆ ที่วิทยาลัยชุมชนสงขลาได้ส่งเสริมการพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่จังหวัดสงขลาได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงนักศึกษาและบุคลากรของวิทยาลัยชุมชนสงขลา” ผอ.พรเพ็ญ กล่าว

ด้าน น.ส. ดาวริน สุขเกษม นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ หน่วยปฏิบัติการเครือข่าย อว. ภาคใต้ สนง.ปลัดกระทรวงอว. กล่าวว่าการบูรณาการ พัฒนาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เมื่อสามารถส่งต่อการพัฒนากลุ่มอาชีพให้กับชาวบ้านได้จนสุดทางก็ย่อมจะช่วยชุมชนได้โดยจากที่วิทยาลัยชุมชนสงขลาได้ดำเนินงานมาจนขณะนี้ เราต้องยกระดับการพัฒนาสู่มาตรฐานผลิตภัณฑ์ของชุมชน เช่น อย., ฮาลาล ฯลฯ เมื่อนั้นเราก็สามารถนำผลิตภัณฑ์ของชุมชนออกสู่ตลาดที่กว้างได้

“กระทรวงอว.พยายามพัฒนาทุกระดับ ตั้งแต่ชุมชนถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และอุตสาหกรรมหากสามารถเชื่อมโยงกันได้ก็จะช่วยกันพัฒนา ปีที่แล้วมาช่วยต่อยอดให้บางส่วนผลิตภัณฑ์ชุมชน” น.ส. ดาวริน กล่าว และว่า

เรื่องมาตรฐาน ขณะนี้ชุมชนยังไม่พร้อมในส่วนของโรงเรือน เราอาจหาวิธีอื่นๆ ช่วย เช่น ต้องใช้การ OEM (Original equipment manufacturer หรือการผลิตผ่านผู้รับจ้างผลิตสินค้า) ก็น่าจะเหมาะน.ส.ดาวริน กล่าวต่อว่า ในส่วนของโรงเรือนคิดว่ากลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มอาชีพต่างๆ ต้องคิดเรื่องตลาดให้ชัดด้วยเหมือนกัน เพื่อกำหนดการผลิตที่เพียงพอ แต่ถ้าเริ่มต้นจากการสร้างโรงเรือนก่อน ในขณะที่ยังไม่รู้ว่าตลาดมีความต้องการอย่างไรทางกลุ่มมีกำลังการผลิตเพียงพอหรือไม่อย่างไร ก็จะเป็นปัญหา แต่ถ้าการขายตลาดมีความต้องการชัดเจน การผลิตชัดเจน ทางกลุ่มก็จะกล้าลงทุนส่วนในขั้นการทดลองทำเป็นต้นแบบ ทดลองตลาด ทางกระทรวงอว. มีช่องทางสนับสนุนเรื่องนี้ และหากทำแล้วพบว่ามีตลาดที่แน่นอน มีการจับมือคู่ค้ากันแล้ว ก็ให้ชุมชนตัดสินใจอีกทีว่าจะลงทุนในการสร้างโรงเรือนต่อไป อย่างไร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *