“ทีมดีโค้ดสามารถเชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบัน เอามาไว้ในงานได้อย่าลงตัว เป็นการนำเสนอ และเชื่อมโยงให้เห็นถึงความเป็นวิถีของผู้คนที่นี่มากขึ้น”
24 สิงหาคม 2567 Melayu Living กลุ่มนักสร้างสรรค์ในย่านเมืองเก่าปัตตานี ร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยการสนับสนุนจาก บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) จัดงาน Pattani Decoded 2024 ในธีม “Unparalleled” ชวนผู้คนมาร่วมกันถอดรหัสคนปัตตานีผ่านรสนิยมการแต่งกายอันจัดจ้านจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ระหว่างวันที่ 24 ส.ค. – 1 ก.ย. 2567 ที่ อ.เมือง จ.ปัตตานี
นางพาตีเมาะ สาดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า งาน Pattani Decoded 2024 ต้องแสดงความชื่นชม กลุ่ม Melayu Living นักสร้างสรรค์ในย่านเมืองเก่าปัตตานี ที่รวมตัวผลักดันสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นที่จังหวัดปัตตานีมาโดยตลอด และทุกปีก็จะมีงาน Pattani Decoded
เราต้องชื่นชมว่า งาน Pattani Decoded 2024 นำเสนอความเป็นปัตตานีที่มีอยู่เดิมแล้วให้ชัดเจนขึ้น และทำให้คนจากข้างนอกอยากเข้ามาสัมผัสความเป็นปัตตานีผ่านงานเหล่านี้
“ทีมดีโค้ดสามารถเชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบันเอามาไว้ในงานได้อย่างลงตัว เป็นการนำเสนอ และเชื่อมโยงให้เห็นถึงความเป็นวิถีของผู้คนที่นี่มากขึ้น”นางพาตีเมาะ กล่าว และว่า
งาน Pattani Decoded 2024 ทำให้เมืองปัตตานีกลับมามีชีวิต ทำให้ผู้คนทั้งสามรุ่นมาอยู่ด้วยกันในงานนี้ การจัดงานนี้ช่วยให้ผู้คนได้ก้าวข้ามความเชื่อความขัดแย้ง และให้คนได้มีส่วนร่วมกับอดีต ปัจจุบัน รวมถึงได้สัมผัสกลิ่นอายความสวยงามในอดีตของปัตตานีด้วย
การพัฒนาต่อยอดในอนาคต ในฐานะผู้ว่าฯปัตตานี มองว่า การจัดงาน Pattani Decoded ไม่ใช่เพียงงานอีเวนท์ธรรมดา แต่เป็นงานสร้างสรรค์ที่ทำให้เมืองเกิดบรรยากาศใหม่ๆ ทำให้ผู้คนจากพื้นที่ข้างนอกได้เข้าใจปัตตานีในมิติงานสร้างสรรค์มากขึ้น และใช้เวลาท่องเที่ยวในปัตตานีมากขึ้นด้วย
“งานดีโค้ด เป็นงานอีเว้นท์สร้างสรรค์ ที่หยิบความเป็นรากเหง้าของปัตตานีในอดีต มาเล่าผ่านบรรยากาศใหม่ๆ และทำให้คนรุ่นเก่า รุ่นใหม่ รุ่นอนาคตได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง น่าสนใจมาก” นางพาตีเมาะ กล่าว
นายฮาดีย์ หะมิดง ประธานการจัดงานฯกล่าวว่า การจัดงาน Pattani Decoded 2024 ปีนี้มาในธีม “Unparalleled” โดยเราไม่ได้เล่าผ่านเกลือหรือวัตถุ แต่ในปีนี้เล่าในคอนเซ็ปต์ “Unparalleled”ที่แปลว่า ไร้เทียมทาน ผ่านวัฒนธรรม หรือเครื่องแต่งกายของคนที่นี่ และจัดขึ้น ใน 4 ย่านของเมืองคือถนนปัตตานีภิรมย์ ตลาดเทศวิวัฒน์ ถนนปรีดา และ ชุมชนจะบังติกอ
“เราจะเลือกเล่าคอนเซ็ปต์ ที่เราเชื่อว่า คนที่นี่มีรสนิยมอะไรบางอย่างที่คอนข้างมีความยูนิ ซึ่งเล่ายากนิดนึง เราจึงเล่าผ่านเครื่องแต่งกาย วัฒนธรรมการแต่งกาย วัฒนธรรมเสื้อผ้า ที่บ่งบอกว่า นี่คือเรานี่คือ รสนิยมของคนที่นี่ นี่คือสิ่งที่เราอยากจะเล่า”
โดยเทศกาลปัตตานีดีโค้ด คือการถอดรหัสมรดกทางวัฒนธรรมในแง่มุมต่าง ๆ ผ่านความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ ซึ่งเราเชิญทุกคนมาร่วมกันถอดรหัสความจัดจ้านของคนปัตตานีที่สำแดงผ่านรสนิยมการแต่งกาย ความเป็นคนปัตตานีที่ต้องต่อรองอยู่เสมอ ระหว่างความเป็นจารีตกับสมัยใหม่ การยืนหยัดรักษาและการเปลี่ยนแปลง ความเป็นตัวเองและความเป็นอื่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือ การต่อรองระหว่างเส้นขนานที่แตกต่างกัน โดยมีผลลัพธ์ผ่านวิธีคิด วัฒนธรรม รสนิยมต่าง ๆ เดินทางผ่านมาและออกไป หลายเรื่องเป็นความทรงจำอันสวยงาม พร้อมพัฒนา หากผู้คนยังคงอยู่เพื่อหลอมรวมคุณค่าเก่าแก่ผสมกลมกลืนสิ่งใหม่
ทั้งยังมีนิทรรศการและกิจกรรมที่น่าสนใจในงาน Pattani Decoded 2024
UNPARALLELED บอกเล่าถึงไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของเมืองที่ส่งผลถึงผู้คนที่อยู่อาศัยในเมืองแห่งนี้ในปัจจุบัน การจัดแสดงรูปแบบของเสื้อผ้าที่สะท้อนถึงยุคต่างๆ
ฮิญาบ นิทรรศการที่จะชวนให้ผู้คนสนทนาถึงฮิญาบในแง่มุมต่าง ๆ ผ่านมุมมองของนักเขียน นักสร้างสรรค์ และช่างภาพ
Fashion Lab นิทรรศการห้องทดลอง ปะติดปะต่อเรื่องราว นำเสนอเบื้องหลังวิธีคิดด้านการแต่งกายของผู้คนในพื้นที่ผ่านมุมมองด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม กระแสสังคม รวมทั้งเทรนด์แฟชั่นในยุคต่าง ๆ
Made in Pattani นิทรรศการที่ Pattani Decodedร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จัดแสดงผลงานของ 10 ผู้ประกอบการร้านค้าเก่าแก่ในย่านที่ได้ทำงานร่วมกับนักสร้างสรรค์ ทั้งในและนอกพื้นที่ โดยใช้เครื่องมืองานออกแบบและความคิดสร้างสรรค์มา พัฒนาต่อยอด บนพื้นฐานของทักษะดั้งเดิมและเอกลักษณ์ของพื้นที่
นิทรรศการแสง Pattani Decoded ได้ร่วมกับทีม LIGHT IS ออกแบบและจัดแสดงแสงไฟบนอาคารของมัสยิดรายอฟาฏอนี สถานที่ประวัติศาสตร์และเป็นศูนย์รวมกิจกรรมทางศาสนาของคนในชุมชนเป็นเวลาร่วม 180 ปี การออกแบบได้ขับเน้นให้อาคารมัสยิดแห่งนี้เปล่งประกายในเวลากลางคืนเพื่อสะท้อนถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมอันสวยงามและเรื่องราวที่รายล้อมมัสยิดแห่งนี้ตลอดมา เกิดบน
เรือนมลายู กิจกรรมเปิดตัวหนังสือเกิดบนเรือนมลายูที่รวบรวมเรื่องราวอันแสนธรรมดาสามัญของชีวิตที่เกิดและเติบโตบนเรือนมลายู หากกาลเวลากลับร้อยรวมเรื่องราวจนกลายเป็นสิ่งแตกต่างจากที่อื่น
Jentayu หนึ่งใน Installation ของงานที่ถอดรหัสจากบันทึกของคณะสำรวจชาวอังกฤษ W.W. Skeat ที่เดินทางมาถึงเมืองปัตตานีในปี 1899 ในห้วงเวลาที่กำลังจะมีงานแต่งงานที่สำคัญของเมือง Skeat ได้บันทึกรายละเอียดของขบวนแห่งานแต่ง เช่น ต้นบุหงาซีเร๊ะ ประดับด้วยนกหลายชนิดโดยเฉพาะ นก Jentayu ซึ่งเป็นหนึ่งในนกที่มีความสำคัญในวรรณคดีมลายู Skeat ยังได้บันทึกพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานแต่งงานไว้อย่างน่าสนใจ
Bek Woh กิจกรรมซึ่งมีรากคำมาจากภาษาอังกฤษว่า Big Work หมายถึงการจัดกินเลี้ยงในชุมชนที่ต้องใช้แรงงานของผู้คนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะงานแต่งงานของสมาชิกในชุมชน ช่วงเวลานี้ทุกคนจะได้กินอาหารเมนูพิเศษ เช่น Gula Besar หรือแกงเนื้อชิ้นใหญ่ที่หาทานยากในช่วงเวลาปกติ
PRIDA St. ตลาดสร้างสรรค์ข้างโรงแรมจงอางที่จะเป็นศูนย์รวมของผู้ประกอบการแฟชั่นรุ่นใหม่ในด้านต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า ของทำมือ เป็นต้น
Lorong Ruedee ศูนย์รวมของเสื้อผ้าวินเทจและรถวินเทจที่จะตั้งอยู่หน้าตลาดเทศวิวัฒน์
Pasar Raya ตลาดชุมชนบริเวณมัสยิดรายอ ที่จัดกิจกรรมตลาดชุมชนสร้างสรรค์ ชูอัตลักษณ์ของชุมชนย่านเมืองเก่าจะบังติกอ โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเป็นเครื่องมือสําคัญ ด้วยการพัฒนาตลาดสร้างสรรค์ของชุมชน
“ปีนี้ดีโค้ด เราขยายพื้นที่จัดงาน ไปยัง 4 ย่าน เราอยากรู้ว่า งานมันจะดีไหม คนจะตอบรับไหม ซึ่งผลตอบรับค่อนข้างดี คนให้ความสนใจ”
นายฮาดีย์ กล่าวต่อว่า งาน Pattani Decoded ปีที่แล้ว จะกระจุกอยู่แค่ที่เดียว แต่ในปีนี้เราพยายามขยายพื้นที่จัดงาน 3-4 ย่าน เพื่อไปลองสถานที่ใหม่ๆ เช่น จุดแรก โรงแรมจงอาง จุดที่ 2 หน้าตลาดเทศวิวัฒน์ จุดที่ 3 ตลาดจะบังติกอ ปัตตานี
ความท้าทายของงาน Pattani Decoded ในปีนี้เราอยากขยายพื้นที่งานไม่ให้กระจุกอยู่แค่สถานที่ใด สถานที่หนึ่ง แต่เป็นงาน Pattani Decoded ที่ขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ของเมืองปัตตานี และชุมชน ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมด้วย
ทั้งยังได้ขยายวันออกไปด้วย ซึ่งปีที่แล้วจัด 3 วันปีนี้จัด 9 วัน เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้จากปีที่แล้ว ที่ช่วงเวลาการงานค่อนข้างสั้น ทำให้คนมาเที่ยวปัตตานีไม่ทัน ปีนี้ จึงขยายระยะเวลาจัดงาน เพื่อให้คนจากข้างนอกได้เข้ามาชม และสัมผัสปัตตานีจากงานนี้
“เราหยิบสิ่งปกติของที่นี่ ที่มีอยู่แล้ว หยิบวิถีชีวิตของคนมาเล่า วิถีวัฒนธรรมการใช้เสื้อผ้าแบบเก่า ใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดามาจัดนิทรรศการ เพื่อบอกว่า สิ่งที่พวกเขาทำ มันไม่ธรรมดา”