“ไก่เบขลา” สัตว์เศรษฐกิจสงขลา! คณะทรัพย์ฯ ม.อ. ต่อยอดงานวิจัย “เทศกาลไก่เบขลา” จัดต่อเนื่องครั้งที่ 3 เดินหน้าสร้างอาชีพแก่เกษตรกรเลี้ยงไก่พันธุ์ดี พร้อมส่งเสริมผู้ประกอบการสู่อาหารชั้นเลิศ
15 สิงหาคม 2567 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) โดย สาขาวิชานวัตกรรมการผลิตสัตว์และการจัดการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ จัดงานเทศกาลไก่เบขลา ครั้งที่ 3 “ไก่เบขลา สร้างอาชีพ” โดยมี ผศ. ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ พร้อมด้วย ดร.ไพรัตน์ ศรีชนะ นายกสมาคมศิษย์เก่าคณะทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมเป็นเกียรติและเยี่ยมชมงาน ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยและองค์ความรู้สู่สาธารณะ นำผลงานไปต่อยอดเพื่อสร้างอาชีพให้กับเกษตรกร และเปิดโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร โรงแรม หรือห้างค้าส่งขนาดใหญ่ ที่จะนำไก่เบขลาไปสร้างสินค้าเชิงพาณิชย์ และสร้างผลกำไรได้
ภายในงานมีการออกบูธนิทรรศการเกี่ยวกับธุรกิจไก่เบขลาจากผู้ประกอบการและนักศึกษา การสาธิตการปรุงเมนูไก่เบขลา “From Farm to Chef” โดย เชฟก๊อต ภานุพันธุ์ มัณฑนานนท์ Executive Chef โรงแรมคราม พัทยา ผู้ท้าชิงในการแข่งขันเชฟกะทะเหล็กประเทศไทย (อาหารไทย) Challenger of Iron Chef Thailand เชฟนิกร ศรีวิลัย ร้านสเต็กตัวพ่อ เขาใหญ่
“ไก่เบขลา” พัฒนาสายพันธุ์โดย สาขาวิชานวัตกรรมการผลิตสัตว์และการจัดการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยการใช้ไก่ พ่อพันธุ์ไก่เบตงพันธุ์แท้ ซึ่งเป็นไก่เนื้อพื้นเมืองของอำเภอเบตง จังหวัดยะลา มีจุดเด่น คือ เนื้อแน่น หนังกรอบ ไขมันน้อย คอลลาเจนสูง ทำให้ไก่เบตง มีชื่อเสียงจนเป็นเอกลักษณ์ ผสมกับไก่แม่พันธุ์ทางการค้า เลี้ยงที่คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา จึงให้ชื่อว่า “ไก่เบขลา”
ที่มาของชื่อ ไก่เบขลา มาจาก “เบ” ได้ลดทอนจากคำว่า เบตง เอาแค่ “เบ” ตัด “ตง” ออก เพราะว่าเป็นไก่เบตงที่นำมาผสมพันธุ์ให้เป็นไก่เบตงลูกผสม ขลา ได้ลดทอนจากคำว่า สงขลา เอาแค่ “ขลา” ตัดคำว่า “สง” ออก เพราะว่าได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ที่คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา ตั้งชื่อและออกแบบโลโก้โดย คุณอนันต์ มะเกะ
ผศ. ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ กล่าวว่า การจัดงานเทศกาล “ไก่เบขลา” จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 เป็นการแสดงให้เห็นถึงการเจริญเติบโตในการดำเนินงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ สามารถนำมาเผยแพร่ มาต่อยอดด้านการตลาดและอีกหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง
นอกจากนั้นยังได้มีการส่งเสริมการเลี้ยงให้กับเกษตรกรเป็นอาชีพเสริม เป็นไก่ที่เจริญเติบโตได้ดี ถือเป็นสิ่งที่ดีที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นตัวนำผลงานวิจัยไปต่อยอด และได้จำหน่ายไก่เบขลาในหลายพื้นที่ ทั้งเพื่อนำไปเลี้ยง และทำอาหาร
ตลอดจนได้ขยายการเลี้ยงไก่เบขลาไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบของ อบจ.สงขลา ถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจของสงขลา ทำให้เกิดการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่อีกด้วย
ดร.ไพรัตน์ ศรีชนะ นายกสมาคมศิษย์เก่าคณะทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวว่า ตนได้เห็นถึงวิวัฒนาการของงานวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง เป็นผลงานวิจัยที่มีการพัฒนาเจริญเติบโต เริ่มจากความโดดเด่นในมหาวิทยาลัยที่แข็งแรงนำมาร่วมกับบริษัทต่อยอดองค์ความรู้ไปสู่เกษตรกร จากนั้นนำไปขยายผลจริงสู่เกษตรกรและร้านอาหารในหาดใหญ่และต่างจังหวัด เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
ทางท่านอธิการบดี ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ ได้กล่าวไว้ว่า “มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต้องสร้างคนสร้างงาน และสร้างชุมชนต่อไปเรื่อย ๆ”
ทางมหาวิทยาลัยได้มีการเก็บข้อมูล วิธีการเลี้ยงที่เหมาะสม ไปจนถึงการนำไก่เบขลามาปรุงอาหารเป็นเมนูต่าง ๆ ส่งเสริมสร้างอาชีพ ต่อยอดผู้ประกอบการร้านอาหาร ถือเป็นความภูมิใจของคณะวิจัย คณาจารย์ มหาวิทยาลัย และผู้ประกอบการในการสร้างงานสร้างอาชีพ รวมถึงได้รับความสนใจจากภูมิภาคอื่น ๆ นำไปสู่การสร้างความแข็งแกร่งในหลาย ๆ ด้านต่อไป
เชฟก๊อต ภานุพันธุ์ มัณฑนานนท์ กล่าวว่า สำหรับวันนี้นำเสนอ “ไก่เบขลา” ในเมนูซอสกอและ ทำมาในรูปแบบทาร์ตทานคู่กับมันบดเห็ดทรัฟเฟิล เป็นการยกระดับอาหารไทยผสมผสานอาหารยุโรป เป็นอาหารว่างที่ทานง่าย โดยใช้วัตถุดิบเป็นไก่เบขลาเป็นวัตถุดิบรสชาติจะเหมือนไก่กอและ ที่มีมันบดเข้าไป แป้งทาร์ตจะมีความกลมกล่อม เข้ากันอย่างลงตัว
ลักษณะของไก่เบขลามีความใกล้เคียงกับไก่เบตงมาก มีความพิเศษที่หนังมีความหนึบกรอบและมีคอลลาเจนใต้หนังค่อนข้างดีมาก และยังทำเป็นเมนูไก่ย่างทานคู่กับซอสก็อร่อย
ไก่เบขลา อัตลักษณ์ความพิเศษ คือ มีปริมาณเนื้อที่หนา มีความนุ่มฉ่ำ นำไปทานอาหารได้หลากหลายเมนูเลยทีเดียว ลักษณะคล้ายกับไก่สายพันธุ์เบรสของฝรั่งเศส บอกเลยว่าเป็นไก่ที่ตอบโจทย์ทำอาหารได้มากมาย
ด้านเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เบขลา นายศักดิ์ชัย มั่นคง กล่าวว่า ตนเป็นเกษตรกรเลี้ยงไก่เบขลาที่อำเภอระโนด เข้าปีที่ 3 ผลประกอบการเป็นที่น่าพอใจ ใช้วิธีการเลี้ยงแบบกึ่งธรรมชาตินอกจากจะให้อาหารสำเร็จรูปแล้วยังผสมกับอาหารตามธรรมชาติ เช่น แหนนำมาผสมกับอาหารเพื่อลดต้นทุนได้อีกด้วย และเป็นไก่ที่มีความเจริญเติบโต ได้ผลตอบรับดี
ขณะที่ นายปิยะ นิติเรืองจรัส ผู้ประกอบการร้านข้าวมันไก่บ้านเลขที่ 8 อำเภอหาดใหญ่ กล่าวว่าตนเป็นผู้ประกอบการ ถือเป็นช่วงท้ายปลายทาง ที่นำไก่เบขลามาแปรรูปเป็นข้าวมันไก่สูตรดั้งเดิม เปิดร้านมาร่วม 2 ปีแล้ว
ด้วยความเป็น “ไก่เบขลา” เมื่อนำมาต้มจะมีรสชาติที่อร่อย ทำให้รู้ถึงรสสัมผัสได้เป็นอย่างดีมีความนุ่มของเนื้อไก่ ความกรอบของหนัง จุดขายอยู่ที่หนังของไก่ มีคอลลาเจนแทรกอยู่ชั้นไขมันเสมือนเป็น “ไก่สามชั้น” ที่มีความตอบโจทย์
เช่นเดียวกับ นายอดิศร จุลจินดา หรือ “ลุงหรอย” ผู้ประกอบการร้านอาหารหรอย อำเภอหาดใหญ่ ที่กล่าวว่า ตนได้มีการส่งเสริมสนับสนุนไก่เบขลามาตั้งแต่เริ่มต้น ในวันนี้ขอนำเสนอเมนูใหม่ ไก่ทอดกระเทียมพริกไทย ทานคู่กับข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นส่วนผสมที่ลงตัว โดยเฉพาะไก่เบขลาที่มีรสชาติอร่อย