ที่แรกของภาคใต้! คณะวิศวฯ ม.อ. เตรียมจัดตั้งศูนย์วิศวกรรมอากาศยานไร้คนขับ PSU-UAV บริการด้านฝึกอบรมและการใช้งานโดรน พร้อมบริการวิชาการ ทั้งทฤษฎีและปฎิบัติ เผยเดือนตุลาคมนี้เปิดเต็มรูปแบบ
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เตรียมเปิดศูนย์วิศวกรรมอากาศยานไร้คนขับ หรือ PSU-UAV ที่แรกของภาคใต้ หวังถ่ายทอดองค์ความรู้ ฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฎิบัติในการควบคุมอากาศยานไร้คนขับ ที่ได้รับรองจากกรมการบินพลเรือน คาดเปิดเต็มรูปแบบเดือนตุลาคม 2567 นี้
ปัจจุบัน อากาศยานไร้คนขับ หรือรู้จักกันในชื่อ“โดรน” เป็นเครื่องมือหนึ่งที่เข้ามาอำนวยความสะดวกในด้านของการถ่ายภาพและถ่ายวิดีโอ ด้านงานเกษตร เช่น การฉีดพ่นยาฆ่าแมลงต่าง ๆ หรือการพ่นปุ๋ยให้กับการเกษตร รวมถึงการใช้งานในด้านการแพทย์และการสาธารณสุข และด้านอื่น ๆ ซึ่งมีการใช้งานที่หลากหลายขึ้น
ผู้ครอบครองโดรน หรือ ผู้บังคับอากาศยานโดรน จำเป็นต้องขอขึ้นทะเบียนกับกรมการบินพลเรือน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)เพื่อจะได้มีใบอนุญาตการขับขี่โดรน ซึ่งต้องผ่านการฝึกอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญ จึงจะสามารถสอบใบอนุญาตการขับขี่ได้
ดร.ชุกรี แดสา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการและการผลิต ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์วิศวกรรมอากาศยานไร้คนขับ PSU-UAV คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ. เผยว่า ศูนย์วิศวกรรมอากาศยานไร้คนขับ PSU-UAV จัดตั้งขึ้นเพื่อบริการวิชาการด้านการฝึกอบรม ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฎิบัติในการควบคุมอากาศยานไร้คนขับ ให้บริการวิชาการด้านการสนับสนุนการใช้งานอากาศยานไร้คนขับด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการเกษตร ด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงด้านการสำรวจธรณีวิทยาต่าง ๆ ทั้งทางอากาศและทางน้ำ งานทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนเพื่อบริการวิชาการด้านการทดสอบและซ่อมบำรุงอากาศยานไร้คนขับพัฒนาเทคโนโลยี ศึกษา และวิจัยที่สนับสนุนด้านอากาศยานไร้คนขับ
ขณะนี้ศูนย์ PSU-UAV มีความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ได้แก่ อุทยานวิทยาศาสตร์ ม.อ.ซึ่งจะให้การสนับสนุนในด้านของสถานที่ในการทดสอบการบิน, บริษัท พัลซ ไซเอนซ์ จำกัด ผู้ผลิตอุปกรณ์และโดรนจำหน่ายอยู่ในประเทศไทย จะให้การสนับสนุนอุปกรณ์และตัวอากาศยานไร้คนขับและบริษัท แอร์โร เทคโนโลยี อินดัสทรี จำกัด ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการฝึกอบรมการบินโดรนมีผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ผ่านการฝึกอบรมที่มีใบรับรองอนุญาต จะเข้ามามีความร่วมมือด้านการฝึกอบรม
“ความร่วมมือทั้งหมดนี้ คาดว่าช่วงประมาณกลางเดือนตุลาคมนี้ จะมี MOU ร่วมกัน รวมถึงทำการเปิดตัวศูนย์อากาศยานไร้คนขับของ ม.อ.อย่างเป็นทางการ” ดร.ชุกรี กล่าว และว่า
ภารกิจแรกของศูนย์จะเป็นการจัดฝึกอบรมแก่ผู้ที่ต้องการใบรับรอง (certificate) ร่วมกับบริษัทที่เป็นผู้เชี่ยวชาญกับการฝึกอบรมในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นภายในช่วงเดือนตุลาคมนี้ รวมถึงภารกิจของการบริการวิชาการ และด้านการเรียนการสอนและงานวิจัยในระดับบัณฑิตศึกษาในเรื่องของการทำซอฟแวร์หรือโปรแกรมที่จะประยุกต์ใช้ในงานต่าง ๆ
โดยปัจจุบันในระดับประเทศมีศูนย์ฝึกอบรมอากาศยานไร้คนขับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI-UTC) เป็นศูนย์แรกของประเทศที่มีหลักสูตรการอบรมที่ได้รับรองจากกรมการบินพลเรือน
ขณะที่ศูนย์อากาศยานไร้คนขับที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ. ถือเป็นที่แรกในภาคใต้ที่จะรองรับเรื่องของการฝึกอบรมและการใช้งานโดรนในภูมิภาคภาคใต้
กลุ่มเป้าหมายของศูนย์ฯคือ ผู้ครอบครองอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน น้ำหนัก 2 กิโลกรัมขึ้นไป ที่จะต้องมีใบรับรองและต้องขึ้นทะเบียนกับกรมการบินพลเรือนซึ่งคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการศูนย์ประมาณ 1,000 คนขึ้นไป
ดร.ชุกรี กล่าวต่อว่า นอกจากการฝึกอบรมแก่ผู้ครอบครองโดรนแล้ว ทางศูนย์ฯ ยังมีเป้าหมายในการสร้างผู้ฝึกสอนการบินโดรนที่ผ่านการรับรองในระดับสากล ซึ่งจะสามารถเป็นวิทยากรอบรมประจำศูนย์ฯ คาดว่ารุ่นแรกประมาณ 5 คน และจะขยายจำนวนในรุ่นต่อ ๆ ไป
“หวังว่าศูนย์วิศวกรรมอากาศยานไร้คนขับจะเป็นศูนย์หนึ่งของคณะวิศวกรรมศาสตร์ในการบริการวิชาการ รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ให้กับภาคอุตสาหกรรม ชุมชนและสังคมต่อไป ผู้สนใจหลักสูตรการฝึกอบรมการควบคุมอากาศยานไร้คนขับเบื้องต้น สามารถติดต่อและสอบถามข้อมูลต่าง ๆ ได้ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ.” ดร.ชุกรี กล่าว