เปิดงานเกษตรภาคใต้ ครั้งที่ 29 “แลเกษตรแดนใต้ ใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่า สู่ความยั่งยืน” วันที่ 28 กรกฎาคมถึง วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2566 700 ร้านค้าเข้าร่วม ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลาและของภาคใต้
เวลา 14.30 น. วันที่ 31 กรกฎาคม 2566 ณ คณะทรัพยากรธรรมขาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) นายพีรพันธ์ คอทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานเกษตรภาคใต้ ครั้งที่ 29 โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวต้อนรับ และรองศาสตราจารย์ ดร.ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวรายงาน
โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวว่า ในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้รับเกียรติกล่าวต้อนรับทุกท่านในพิธีเปิดงานเกษตรภาคใต้ ครั้งที่ 29 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีหน้าที่ผลิตบัณฑิต วิจัย บริการวิชาการ
และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเพื่อสร้างบริบททางวิชาการที่เปิดกว้างต่อการแสวงหาความรู้ ด้วยรูปแบบภารกิจที่มีการบูรณาการอย่างหลากหลายแปละทั่วถึง เสริมสร้างทรัพยากรบุคคลในท้องถิ่นสู่สังคมแห่งภูมิปัญหาและการเรียนรู้ โดยพันธกิจสำคัญประการหนึ่งของมหาวิทยาลัย คือการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน
งานเกษตรภาคใต้ ซึ่งนับเป็นงานประจำปีของคณะทรัพยากรธรรมชาติ คือส่วนหนึ่งของการให้บริการวิชาการและถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมทางการเกษตรแก่เกษตรกรและชุมชนภาคใต้ ซึ่งมหาวิทยาลัยต้องขอขอบคุณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ และผู้สนับสนุนการจัดงานทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ที่ได้ร่วมกันดำเนินการตามพันธกิจดังกล่าวด้วยดีเสมอมา
รองศาสตราจารย์ ดร.ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวว่า การจัดงานเกษตรภาคใต้ปีนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม ถึง วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2566 รวมระยะเวลา 10 วัน โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
องค์กรภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ประมาณ 80 หน่วยงาน และผู้ประกอบการร้านค้าประมาณ 700 ราย หัวข้องานในปีนี้คือ “แลเกษตรแดนใต้ ใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่า สู่ความยั่งยืน” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญ และบทบาทของภาคการเกษตร ว่าเป็นรากฐานในการนำพาประเทศ
โดยอาศัยฐานทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ในชุมชนภาคใต้ บูรณาการกับวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการผลิตในภาคเกษตร เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร สังคมเกษตร ชุมชน และประชาชนทั่วไปอย่างยั่งยืน
กิจกรรมงานเกษตรภาคใต้ในปีนี้ ประกอบด้วยการฝึกอบรมการประชุมสัมมนาทางวิชาการ การแสดงนิทรรศการ การประกวด การแข่งขัน การสาธิต การให้คำแนะปรึกษาทางวิชาการ การแสดงและจำหน่ายสินค้าและผลิตเกษตร เครื่อง
จักรกลการเกษตรและสินค้าอื่น ๆ
ซึ่งการจำหน่ายสินค้าในงานได้เน้นการให้บริการอย่างมีคุณภาพ มีการจัดอบรมหลักสุขาภิบาลอาหารให้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา การจำหน่ายต้นไม้และสินค้าเกษตร ได้กำหนดให้มีการสาธิตและเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสินค้านั้น
นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับศิลปวัฒนธรรม โดยได้จัดให้มีการแสดงศิลปะและวัฒนธรรมของภาคใต้ตลอดการจัดงาน สำหรับการผลิตภาคการเกษตรสำคัญ ที่เป็นจุดเด่นของงานในปีนี้ ประกอบด้วยด้านการผลิตพืช ได้แก่ ทุเรียน จำปาดะ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ด้านปศุสัตว์ ได้แก่ แพะ ไก่เบขลา สุกร และด้านเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาพลวงชมพู ปลาสวยงาม และสาหร่ายทะเลเศรษฐกิจ
การจัดงานเกษตรภาคใต้ครั้งนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะการดูแลจัดการจราจร การรักษาความปลอดภัยและสาธารณูปโภคพื้นฐาน จากตำรวจ ทหาร เทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลเมืองคอหงส์ ชุมชน ภาคเอกชน และหน่วยงานต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
นายพีรพันธ์ คอทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยคณะทรัพยากรธรรมชาติ ได้ดำเนินการจัดงานเกษตรภาคใต้เป็นประจำทุกปี และจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาถึงครั้งที่ 29 ในวันนี้
ทุก ๆ ท่านคงตระหนักดีว่า โลกปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีความแน่นอน คาดการณ์ไม่ได้ ตัวอย่างการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา คือ เหตุการณ์ที่ประจักษ์ชัด แต่ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ภาคการเกษตรก็ยังคงมีความจำเป็น และเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศ
เพราะการเกษตรเป็นภาคการผลิตที่สร้างอาหารเลี้ยงประชากรของประเทศและเป็นต้นน้ำสำคัญของภาคการผลิตอื่น ๆ การที่คณะทรัพยากรธรรมชาติ ในฐานะสถาบันการศึกษาหลักทางการเกษตรและทรัพยากรได้จัดงานเกษตรภาคใต้ขึ้น เพื่อให้บริการทางวิชาการแก่เกษตรกรและชุมชน
เป็นสถานที่ที่นักวิจัย นักวิชาการ เกษตรกร ภาคเอกชนและประชาสังคม นำองค์ความรู้และนวัตกรรมมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน รวมทั้งเป็นเวทีแห่งการฝึกฝนประสบการณ์ให้แก่นักศึกษา เหล่านี้คือภารกิจที่มีคุณค่ายิ่ง นอกจากนี้การจัดงานยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลาและภาคใต้ได้เป็นอย่างดี
อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ความมั่นคงให้แก่พื้นที่ จึงอยากเห็นว่า งานเกษตรภาคใต้ เป็นกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้บริการชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมและมีคุณประโยชน์ยิ่ง
///////////////
สำนักข่าวโฟกัส