Home » (สงขลา)-ท่องเที่ยว-บริการ หนุนศก.ใต้ไตรมาส1

(สงขลา)-ท่องเที่ยว-บริการ หนุนศก.ใต้ไตรมาส1

สำนักข่าวโฟกัส
สงขลา-ภาคบริการ-ท่องเที่ยว ดันเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาส 1 ขยายตัวเล็กน้อย หนุนการบริโภคภาคเอกชน ส่งออก-การลงทุน-อุตสาหกรรมหดตัว คาดแนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 2 ยังขยายตัว ตามแรงส่งภาคท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง
วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ รายงานภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาส 1 ปี 2567
รายได้เกษตรกร กลับมาขยายตัว


จากรายได้ยางพารา ตามราคายางที่ขยายตัวมากขึ้นเนื่องจากผลผลิตที่ออกน้อยกว่าปกติ ตามการระบาดของโรคใบร่วง สภาพอากาศที่ร้อนกว่าปกติ และฝนสะสมที่น้อยตั้งแต่ปีก่อน ขณะที่รายได้จากปาล์มน้ำมันและกุ้งยังคงหดตัว
การผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัว
จากการผลิตยางพาราแปรรูปโดยเฉพาะยางผสมที่หดตัวตามคำสั่งซื้อของจีนที่ชะลอในช่วงราคายางสูง รวมถึงน้ำมันปาล์มดิบลดลงตามวัตถุดิบและอากาศร้อนแล้ง ด้านการผลิตไม้แปรรูปหดตัวตามคำสั่งซื้อของจีนที่เร่งไปมากในช่วงก่อนหน้า
ภาคบริการท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง
จากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวในหลายสัญชาติ ทั้งจีน มาเลเซีย ยุโรป ตามอุปสงค์การท่องเที่ยวที่ยังมีต่อเนื่อง จำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น รวมถึงอานิสงส์จากมาตรการฟรีวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวจีน ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยขยายตัวต่อเนื่อง
การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวเล็กน้อย


จากปัจจัยสนับสนุนช่วงเทศกาลและมาตรการภาครัฐในช่วงต้นไตรมาส ส่งผลให้การใช้จ่ายสินค้าไม่คงทนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว สอดคล้องกับการใช้จ่ายบริการเพิ่มขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายสินค้าคงทนลดลงมาก โดยเฉพาะรถบรรทุกส่วนบุคคล
การลงทุนหดตัว
การลงทุนภาคเอกชน หดตัวจากด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นสำคัญ ด้านการลงทุนก่อสร้างหดตัวเล็กน้อย ตามการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและโรงแรมในพื้นที่ท่องเที่ยวที่เร่งไปในช่วงก่อนหน้า
การลงทุนภาครัฐ หดตัวต่อเนื่องจากหมวดที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า
การค้าผ่านด่านศุลกากร หดตัว


การส่งออก หดตัว จากตลาดจีนในสินค้ายางพาราแปรรูปหมวดยางผสมเป็นหลัก อีกทั้งสงครามทะเลแดงทำให้การขนส่งล้าช้าในบางสินค้า เช่น ไฟเบอร์บอร์ด
การนำเข้า หดตัวจากอุปกรณ์ไฟฟ้าและวงจรไฟฟ้า รวมถึงสินค้าทุนหมวดเครื่องจักร และมาตรวัดที่ลดลง
อัตราเงินเฟ้อ ลดลง ตามราคาอาหารสด ผลจากอุปทานเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ปลายไตรมาสเริ่มเห็นเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น
ตลาดแรงงาน ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง
ตามภาคท่องเที่ยวที่ขยายตัว จากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยว สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตน ม.33 ที่ปรับดีขึ้น เช่นเดียวกับความต้องการแรงงานตามตำแหน่งเปิดรับใหม่ที่มีต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปัญหาขาดแคลนแรงงานในพื้นที่ท่องเที่ยวหลักยังคงมีอยู่ ด้านแรงงานภาคผลิตทรงตัว และภาคก่อสร้างชะลอ
แนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 2/2567


คาดว่า “ขยายตัวเล็กน้อย” ตามแรงส่งภาคท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งจากปัจจัยหนุนเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลดีต่อตลาดแรงงานและการอุปโภคบริโภค อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรช่วยพยุงการใช้จ่ายได้ไม่มากนัก เนื่องจากผลผลิตได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อนแล้ง สำหรับภาคการผลิตและส่งออกคาดว่าปรับดีขึ้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *