Home » ‘อา-รมย์-ดี’ ถนน 3 วัฒนธรรมปัตตานี ปรับ”ขนส่งฯ”รับนทท.

‘อา-รมย์-ดี’ ถนน 3 วัฒนธรรมปัตตานี ปรับ”ขนส่งฯ”รับนทท.

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจเยี่ยมขนส่งปัตตานี ปรับการเดินรถ ขานรับนักท่องเที่ยวมาเลย์เพิ่มจำนวนในพื้นที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 23 เมษายน 2567 ที่ สถานีขนส่งจังหวัดปัตตานี นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจเยี่ยมการดำเนินสถานีขนส่งจังหวัดปัตตานี มีนางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ คุณาธรรมารักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด ร่วมตรวจเยี่ยม โดยมี นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายสนั่น สนธิเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี นายอำเภอเมือง ขนส่งจังหวัดปัตตานี และผู้แทนหน่วยงานราชการในจังหวัดปัตตานีให้ร่วมการต้อนรับ
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ กล่าวว่า ตามนโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการเชื่อมโยง สนับสนุนการเดินทางสถานที่ท่องเที่ยว สถานที่สำคัญบนถนนสายวัฒนธรรมในย่านการค้าดั้งเดิมของเมืองท่าปัตตานี ซึ่งมีชื่อเส้นทาง ‘อา-รมย์-ดี’ โดยย่อมาจากชื่อถนน 3 สาย คือ อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ และฤดี ให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวทางพหุวัฒนธรรม เรียนรู้เกี่ยวกับเมืองท่าปัตตานี การติดต่อค้าขาย และความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมมลายูผ่านอาคารบ้านเรือน ศิลปะ สถาปัตยกรรม และวิถีชีวิตของชาวปัตตานี รวมทั้งยกระดับการอนุรักษ์เมืองเก่า พร้อมเสนอเป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมเชื่อมโยงระหว่างไทย จีน และมุสลิม การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อรับฟังข้อมูลการให้บริการสาธารณะ และแนวทางการพัฒนาระบบรถโดยสารสาธารณะเพื่อรองรับการท่องเที่ยว และยกระดับระบบคมนาคมในพื้นที่จังหวัดปัตตานี

การเชื่อมต่อการเดินทางท่องเที่ยวในตัวเมืองปัตตานีในขณะนี้ ประชาชนสามารถเดินทางท่องเที่ยวจากสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดปัตตานี ดังนี้ 1) รถโดยสารขนาดเล็ก (ตุ๊กตุ๊ก) คิดอัตราค่าโดยสาร โดยการเดินทางรับ – ส่ง ภายในเขตเมืองปัตตานี คนละ 20 บาท และรับ – ส่ง ภายในเขตเมืองปัตตานี – สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดปัตตานี คนละ 30 บาท 2) รถจักรยานยนต์รับจ้าง อัตราค่าโดยสารตามกฎกระทรวงฯ ทั้งนี้ การเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ มีการให้บริการโดยรถโดยสารไม่ประจำทาง (รถตุ๊กตุ๊ก) และรถจักรยานยนต์รับจ้าง ได้แก่ สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ศาลเจ้าเล่งจูเกียง (เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) มัสยิดกรือเซะ มัสยิดรายอฟาฏอนี (160 ปี) มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี หอนาฬิกา 3 วัฒนธรรม ชุมชนเมืองเก่า (กือดาจีนอ) และศาลหลักเมืองจังหวัดปัตตานี

สำหรับสถานีขนส่งจังหวัดปัตตานี องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานีได้รับถ่ายโอนจากกรมการขนส่งทางบก (โดยสำนักงานขนส่งจังหวัดปัตตานี) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 เพื่อดำเนินภารกิจตามพระราชบัญญัติกำหนดแผน และขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และได้เปิดให้บริการสถานีขนส่งฯ ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2554 ปัจจุบันมีปริมาณรถโดยสารที่เข้าใช้สถานีขนส่งฯ นอกช่วงเทศกาล 38 – 45 เที่ยว/วัน และช่วงช่วงเทศกาล 53 – 72 เที่ยว/วัน

ในโอกาสนี้ นายสุรพงษ์ ได้มีข้อสั่งการให้สำนักงานขนส่งจังหวัดปัตตานี ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี เพิ่มความถี่ของจำนวนเที่ยววิ่ง ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ผู้โดยสารมาใช้บริการขนส่งสาธารณะ รวมทั้งจัดระเบียบการเดินรถในพื้นที่ให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลเซีย


ภาพ/ข่าว
มะอายือมิง สาแล๊ะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *