Home » “Smart City-People” ม.อ.ปัตตานี ร่วมยกระดับคุณภาพการศึกษาฯ

“Smart City-People” ม.อ.ปัตตานี ร่วมยกระดับคุณภาพการศึกษาฯ

ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จังหวัดตามแนวคิด Smart City, Smart People บนพื้นฐานแนวคิด SMART+I คณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ร่วมกับภาคีเครือข่ายทางการศึกษาจัดงาน Open House ยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วยนวัตกรรมการบริหารและการจัดการเรียนรู้
เมื่อเช้าวันนี้ (วันที่ 25 เมษายน 2567) ณ ห้องน้ำพราวบอลรูม โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี ยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี 32 โรงเรียน จัดโครงการนวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี ระยะที่ 2 (Open House 2024) โดยโครงการวิจัย “การพัฒนากลไกความร่วมมือในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วยนวัตกรรมการบริหารและการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนในจังหวัดปัตตานี ระยะที่ 2” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยมี นายสนั่น สนธิเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน


รศ. ดร.อาทิตย์ อินทรสิทธิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายหลักสูตรและส่งเสริมการเรียนรู้ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวต้อนรับ และ ดร.สุริยา หมาดทิ้ง ศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี กล่าวรายงาน จากนั้น มีการนำเสนอผลงานดำเนินงานของพื้นที่นวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย รศ.ดร.เอกรินทร์ สังข์ทอง ผศ.ดร.วรภาคย์ ไมตรีพันธ์ ผศ.ดร.จุฑา ธรรมชาติ การแสดงผลการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมของแต่ละโรงเรียน การเสวนา “ถอดบทเรียนการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี” และสรุปผลการดำเนินงานในภาพรวมของการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดปัตตานี การอบรมเชิงปฏิบัติการ “จากการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาสู่ วPA” และพิธีมอบโล่เกียรติคุณ


การเข้าร่วมโครงการพื้นที่นวัตกรรม
ดร. สุริยา หมาดทิ้ง ศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี กล่าวรายงานการจัดโครงการนวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี ระยะที่ 2 ว่า เป็นความร่วมมือระหว่างคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี ร่วมกับภาคีเครือข่ายทางการศึกษา ร่วมกันขับเคลื่อนนวัตกรรมการศึกษา โดยมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ รวม 32 โรงเรียน เป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้งสามเขตพื้นที่จำนวน 16 โรงเรียน โรงเรียนสังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชน จำนวน 11 โรงเรียน และโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษาจำนวน 3 โรงเรียน เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จังหวัดตามแนวคิด Smart City, Smart People บนพื้นฐานแนวคิด SMART+I ถือเป็นกลไกหนึ่งที่ถูกบรรจุอยู่ในแผนการดำเนินการโครงการนวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี ระยะที่ 2 เพื่อเป็นเวทีการนำเสนอผลลัพธ์การดำเนินงานด้านนวัตกรรมการบริหาร เป็นพื้นที่ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเพื่อนครู นักวิชาการ นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางการศึกษาและภาคีเครือข่าย ที่ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษาในโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดปัตตานีทั้ง 32 โรงเรียน อันจะช่วยหนุนเสริมให้เกิดการต่อยอดในเชิงนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการขยายเครือข่ายการนำนวัตกรรมไปใช้ในเชิงพัฒนา ตลอดจนสามารถสร้างนวัตกรรมและความร่วมมือในระดับที่สูงขึ้นต่อไป การจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาและแผนปฏิบัติการ การกำกับ ดูแล เร่งรัด ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานของส่วนราชการหรือหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการถือเป็นบทบาทหน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญ ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ ได้มีกิจกรรมการเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติเพื่อพัฒนาและต่อยอดนวัตกรรมทางการศึกษาของสถานศึกษา กลไกการพัฒนานวัตกรรมการบริหาร ดังเช่นแนวคิด OKRs กลไกการสร้างนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ หรือกรอบหลักสูตร Pattani Heritage เหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยขับเคลื่อน ส่งเสริม และสนับสนุนกระบวนการบริหารและการจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษาให้มีคุณภาพและเกิดประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น


รศ. ดร.เอกรินทร์ สังข์ทอง หัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนากลไกความร่วมมือในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วยนวัตกรรม การบริหารและการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนในจังหวัดปัตตานี ระยะที่ 2 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยถึงความก้าวหน้าการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษาจังหวัดปัตตานี ว่า จังหวัดปัตตานี ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่มีเป้าหมายสำคัญเพื่อพัฒนาและยกระดับการศึกษาในท้องถิ่น โดยมุ่งมั่นส่งเสริมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และการเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านกรอบหลักสูตร Pattani Heritage ซึ่งสนับสนุนให้นักเรียนไม่เพียงแต่ได้เรียนรู้ในห้องเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเรียนรู้จากสภาพจริงของชุมชน การใช้

ระบบการบริหารแบบ Objective Key Results (OKRs) ได้ช่วยให้โรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถกำหนดเป้าหมายและวัดผลการดำเนินงานได้อย่างชัดเจน ทำให้เห็นการปรับปรุงและความก้าวหน้าในทิศทางที่ต้องการ นอกจากนี้ยังเน้นการสร้างการเรียนรู้ที่มีการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในชุมชน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่รอบด้านและเกื้อหนุนต่อการพัฒนาทักษะของนักเรียนในหลากหลายด้าน ผลลัพธ์ที่ได้จากการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่านักเรียนมีการพัฒนาทักษะสำคัญ เช่น การอ่านออกเขียนได้, การคิดวิเคราะห์, และการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดีขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงการค่อยๆ เดินเข้าใกล้เป้าหมายที่สำคัญของจังหวัดตามแนวคิด SMART + I อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาได้อย่างยั่งยืน โครงการนี้ยังคงต้องพึ่งพาการสนับสนุนและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อความสำเร็จที่ต่อเนื่องและรอบด้าน การพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอย่างยั่งยืนควรเน้นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและชุมชนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อความต้องการท้องถิ่น การใช้ข้อมูลและผลลัพธ์จากการวิจัยเป็นฐานในการตัดสินใจ, พร้อมกับการประเมินและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง, จะช่วยให้การศึกษาในพื้นที่นั้นมีประสิทธิภาพและปรับตัวได้ดีตามบริบทที่เปลี่ยนไป


นายสนั่น สนธิเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ประธานในพิธีเปิดงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานนวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี ระยะที่ 2 ; Open House 2024 ในครั้งนี้ นับเป็นร่วมมือกันทำงานเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาจังหวัดปัตตานีไม่ให้หยุดนิ่ง เกิดเป็นความเคลื่อนไหวทั้งในมิติการกระตุ้นคิด การผลักดันทั้งในเชิงนโยบายและในเชิงการปฏิบัติงาน ตลอดจนร่วมกันจับมือทำงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งล้วนแล้วแต่ช่วยส่งเสริมทักษะการทำงานให้เกิดแก่บุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ทั้งสิ้น การจัดงาน นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี ระยะที่ 2 ; Open House 2024 ได้ตอบสนองแก่พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ขณะเดียวกัน พบว่าหน่วยงานทุกภาคส่วนได้สร้างแนวปฏิบัติเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมโครงการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจหวังไว้ ทั้งนี้ ผลลัพธ์ปลายทางก็เป็นไปเพื่อพัฒนาผู้เรียนซึ่งล้วนแต่เป็นลูกหลานของเราทั้งในมิติองค์ความรู้ สมรรถนะ ทักษะ และเจตคติ
ภาพ/ข่าว
มะอายือมิง สาแล๊ะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *